Analysis

การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติออสฯ จะกระทบคุณอย่างไร

ธนาคารสำรองออสฯ ปรับดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นไปแล้วเป็น 1.85% สูงสุดในรอบหลายปี เรื่องนี้จะส่งผลกับคุณอย่างไรโดยเฉพาะผู้ถือสินเชื่อบ้าน รัฐบาลทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบ

Reserve Bank of Australia Governor Philip Lowe in a suit.

Reserve Bank of Australia Governor Philip Lowe says the succesive rate rises were required "to bring inflation back to target and to create a more sustainable balance of demand and supply in the Australian economy". Source: AAP / Diego Fedele

ประเด็นสำคัญ
  • ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ขึ้นไปอีกร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 1.85% สูงสุดในรอบกว่า 6 ปี
  • นักเศรษฐศาสตร์เผยดอกเบี้ยมาตรฐานออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเร็วสุดนับตั้งแต่ปี 1994 หวั่นคนหาเงินส่งบ้านไม่ไหว ข้าวของแพง คนเช่าอาศัยต้องจ่ายเพิ่ม
  • คิดซื้อบ้านช่วงนี้ลำบากแม้คาดการณ์ชี้ว่าราคาหล่นลงถึงปีหน้า เพราะดอกเบี้ยเพิ่มเงินดาวน์ก็เพิ่มตามไปอีก
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอย่างเป็นทางการแล้วเป็นร้อยละ 1.85 เพิ่มจากอัตราเดิมขึ้นมาอีกร้อยละ 0.5 สูงที่สุดในรอบกว่า 6 ปี

โดยอัตราใหม่นี้ได้เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นความพยายามของธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อของประเทศ

ดร.ฟิลลิป โลว์ (Dr.Phillip Lowe) ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมบอร์ดธนาคารว่า การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความจำเป็นเพื่อที่จะ “นำภาวะเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายและสร้างสมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่ยั่งยืนมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ ยังได้ชี้ว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะหยุดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุมบอร์ดธนาคารในเดือนหน้า โดยธนาคารสำรอง ฯ จะจับตาข้อมูลระบบเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

“ขนาดและช่วงเวลาของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นจะได้รับการชี้นำโดยข้อมูลที่เข้ามา และการประเมินคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงานของบอร์ดธนาคาร” ดร.โลว์ระบุในแถลงการณ์

ทำไมต้องปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้น

ดร.โลว์ กล่าวว่า มีการคาดว่าภาวะเงินเฟ้ออาจถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายปีนี้ และชะลอตัวลงสู่ระยะในเป้าหมายระหว่างร้อยละ 2-3 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคาดการณ์ระบบเศรษฐกิจในระดับโลก

“หนทางในการบรรลุถึงสมดุลนี้ค่อนข้างคับแคบและขมุกขมัวไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะยิ่งในระดับโลก” ดร.โลว์กล่าวในแถลงการณ์

“แนวโน้มการเติบโตของระบบเศรษฐกิจระดับโลกถูกลดลงมาจากความกดดันของรายได้ที่แท้จริงจากภาวะเงินเฟ้อระดับสูง นโยบายทางการเงินที่รัดกุมในหลายประเทศ การบุกรุกยูเครนของรัสเซีย และมาตรการควบคุมโควิดในจีน”
กราฟแสดงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของออสเตรเลียสำหรับปี 2022
ตลอดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียยังคงที่อยุ่ที่ 0.10% แต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีนี้ เมื่อมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจากทั้งหมด 4 ครั้งจนถึงปัจจุบัน โดยปรับขึ้นไป 0.25% ในเดือน พ.ค. และครั้งถัดมาอีก 3 ครั้งรอบละ 0.50% Source: SBS
ดร.โลว์ ยังได้ชี้ถึงปัจจัยภายในประเทศที่มีส่วนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน

“มีแรงกดดันราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างจากอุปสงค์ที่แข็งแรง ตลาดแรงงานที่ตึงตัว และข้อจำกัดด้านศักยภาพในบางภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ เหตุอุทกภัยในปีนี้ยังได้ส่งผลต่อราคาบางอย่างด้วย”

แถลงการณ์บอร์ดธนาคารสำรองฯ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 อัตราเงินเฟ้อในช่วงปีนี้จนถึงไตรมาสเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 6.1 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.9

ทั้งนี้ ตลอดปีปฏิทินที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราเพียงร้อยละ 3.5

สิ่งนี้จะกระทบผู้ถือสินเชื่อบ้านอย่างไร

  • ผู้ถือสินเชื่อบ้านทั่วไปที่มียอดคงเหลือ $330,000 ดอลลาร์ จะพบว่าต้องจ่ายค่างวดมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ $90 ดอลลาร์ หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในครั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลียระบุว่า เพิ่มขึ้นมาจากอีก $220 ดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
  • เจ้าของบ้านในออสเตรเลียผู้ถือสินเชื่อที่มียอดคงเหลือ $500,000 ดอลลาร์ จะพบว่าต้องจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นเดือนละ $140 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมาจาก $335 ดอลลาร์ที่ขึ้นมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้ง 3 ครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
แซลลี ทินดอลล์ (Sally Tindall) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเรตซิตี้ (RateCity) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่านี่เป็นความพยายามครั้งที่ 4 ของธนาคารสำรอง ฯ “เพื่อทำให้วิญญาณเงินเฟ้อกลับลงไปอยู่ในตะเกียง”

อย่างไรก็ดี เธอกล่าวว่า มีความกังวลในเรื่องแรงกดดันที่ผู้ถือสินเชื่อบ้านจะต้องเผชิญในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“3 เดือนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นมาถึงจุดนี้ก่อนช่วงคริสต์มาส ไม่มีใครคิดเลยว่าเราจะมาถึงจุดนี้แล้วในเวลาเพียง 4 เดือน” คุณทินดอลล์ กล่าว

“ฉันไม่รู้ว่าชาวออสเตรเลียได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่หรือเปล่า สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงและรวดเร็วขนาดนี้”
กราฟแสดงอัตราดอกเบี้ยออสเตรเลียนับตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 แสดงให้เห็นถึงระดับความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยธนาคารสำรองฯ ระบุว่าจะยังมุ่งที่จะ "รักษาระดับเงินเฟ้อระหว่าง 2-3% เมื่อเวลาผ่านไป" Credit: Reserve Bank of Australia

รัฐบาลกำลังตอบสนองอย่างไร

รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลสหพันธรัฐระบุว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนั้น “ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ”

“มันไม่ใช่ความตกใจสำหรับใคร แต่มันก็กระทบกระเทือนอยู่ดี” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

ระหว่างการตอบกระทู้คำถามในรัฐสภา ดร.ชาลเมอร์ส ได้ชี้ไปยังแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีที่ได้มีการแถลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ารัฐบาลสหพันธรัฐจะใช้มาตรการ 3 มาตรการเพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจสำหรับชาวออสเตรเลีย

หนึ่งในนั้นรวมถึง:
  • การลดค่าบริการดูแลบุตร (childcare)
  • การลดราคายาในรายชื่อยาที่รัฐบาลสนับสนุนผ่านโครงการสิทธิประโยชน์ทางเวชภัณฑ์ (PBS)
  • การผลักดันให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
  • การแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงในระบบห่วงโซ่อุปทานด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
แผนภูมิแสดงอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียคาดว่าอัตราเงินเฟ้อตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 7.75% ในปีนี้ Credit: Reserve Bank of Australia
“งานของเราไม่ใช่การพยายามจะมีอิทธิพลต่อธนาคารสำรอง ฯ หรือพยายามคาดเดาการตัดสินใจของพวกเขาเป็นครั้งที่ 2 งานของเราคือการมุ่งเน้นไปในสิ่งที่เราสามารถมีอิทธิพลได้อย่างมีความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลใหม่ในระดับชาติ ... รับผิดชอบมาตรการเยียวยาค่าครองชีพ การแก้ไขปัญหาด้านอุปทานเหล่านั้นในระบบเศรษฐกิจ และการเริ่มต้นตัดลดงบประมาณที่เอารัดเอาเปรียบและเปล่าประโยชน์ ซึ่งกำลังกลายเป็นสิ่งที่ชาวออสเตรเลียต้องจ่ายให้ในราคาแพงขึ้นทุกที” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

เขากล่าวว่า แม้จะมีความท้าทายในระบบเศรษฐกิจอยู่ข้างหน้า แต่ก็มั่นใจว่าชาวออสเตรเลียจะสามารถผ่านไปได้

“ชาวออสเตรเลียรู้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากข้างหน้าเมื่อพูดถึงพายุในระบบเศรษฐกิจของเรา แต่เรามั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปสู่อีกด้านหนึ่งได้อย่างแข็งแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศการพิจารณานโยบายด้านธนาคารและการเงินเป็นวงกว้างเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ใครเจ็บปวดที่สุดในวิกฤตนี้

ปีเตอร์ ไวท์ (Peter White) กรรมการผู้จัดการสมาคมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า จะมีความตึงเครียดทางการเงินเพิ่มมากขึ้นสำหรับการจ่ายค่างวดของผู้ถือสินเชื่อบ้าน และมีบางส่วนที่จะพิจารณาทางเลือกที่จะรีไฟแนนซ์

“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้เริ่มที่จะทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับหลายคน ขณะที่ผมเข้าใจถึงจุดประสงค์ของธนาคารสำรองฯ ผมยังหวังอีกว่าพวกเขาจะพิจารณาถึงชุมชนในวงกว้าง ผลกระทบที่มีต่อสังคมมันวงกว้าง และผลในแง่ลบในสังคมเมื่อมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สิ่งที่ผู้บริโภคจะรับมือได้นั้นมีขีดจำกัด และหลังจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก 3 เดือนที่ผ่านมา ผมหวังว่าจะมีการเยียวยาในเดือนต่อ ๆ มา” คุณไวท์ กล่าว

คอร์โลจิก (CoreLogic) บริษัทวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ส.ค.) ว่า ราคาบ้านในออสเตรเลียหล่นลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2008 ขณะที่สภาพของตลาดที่พักอาศัย “คาดว่าจะแย่ลงไปอีก” จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อบ้าน
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารคอมมอนเวลธ์คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาที่พักอาศัยระดับชาติอาจลดลงไปร้อยละ 6 ภายในสิ้นปีนี้ และอาจลดลงไปอีกร้อยละ 8 ในปี 2023

เอเลียนอร์ ครีจ (Eleanor Creagh) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากพรอพแทร็ก (PropTrack) กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 และจะกระทบกับงบประมาณในภาคครัวเรือน

“การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและราคาบ้านที่ลดลงเป็นฉากหลัง เทียบกับแนวกันชนเงินออมและความมั่งคั่ง และอัตราการเติบโตค่าจ้างที่แข็งแรงซึ่งเต็มไปด้วยความหวัง จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินสภาพของความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความรุนแรงและความรวดเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน” นางครีจ กล่าว

“ครัวเรือนจำนวนมากได้สร้างแนวกันชนทางการเงินขนาดใหญ่ และอัตราเงินออมนั้นยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยเป็นในช่วงก่อนการแพร่ระบาดใหญ่”
“บอร์ดธนาคารจะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับความสมดุลของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ในขณะที่ประเมินการกำหนดนโยบายทางการเงินที่เหมาะสม”

ดร.ชาลเมอร์ส กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียทุกคนจะรู้สึกถึงความตึงเครียดเหล่านี้

“หลายครอบครัวในตอนนี้จะต้องทำการตัดสินใจที่ยากลำบากขึ้นว่าพวกเขาจะรักษาสมดุลงบประมาณในครัวเรือนอย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันอื่น ๆ เช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และราคาสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่สูงขึ้น” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

คุณทินดอลล์ จากเรตซิตี้ กล่าวว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านจะต้องระวังมากขึ้นในพฤติกรรมการใช้จ่าย

“ครอบครัวต่าง ๆ ควรที่จะเริ่มหยิบปากกาและกระดาษมาเขียนยุทธศาสตร์ทางการเงินเพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านไปได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า มันอาจเป็นเงินเพียงเล็กน้อยจากงบประมาณในบางครัวเรือน แต่ก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากสำหรับอีกหลายคน”

“หากคุณประสบปัญหา ส่งเสียงตั้งแต่เนิ่น ๆ และขอความช่วยเหลือ ธนาคารไม่ต้องการที่จะเห็นคุณผิดนัดชำระค่าบ้านไปมากกว่าที่คุณทำ”

ผู้เช่า-ธุรกิจไซส์เล็กก็โดนผลกระทบไปด้วย

โยกิ วิทยธมะ (Yogi Vidyattama) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาแบบจำลองเศรษฐกิจสังคมจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา กล่าวว่า ขณะที่เจ้าของบ้านผู้ถือสินเชื่ออัตราผันแปรจะรับรู้ได้ถึงผลกระทบในครั้งนี้ แต่ความกังวลของเขาโดยหลักแล้วคือในหมู่ผู้เช่าพักอาศัย

เขาเตือนว่าราคาค่าเช่าที่ประกาศในตลาดอาจเป็นตัวชี้วัดอัตราค่างวดของสินเชื่อบ้านในปัจจุบัน และอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายอย่างน่ากังวลสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อบ้านได้

“หากสิ่งนี้เกิดขึ้นผู้ที่กำลังเช่าอาศัยจะไม่สามารถซื้อบ้านได้ โดยเฉพาะในอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ต้องเตรียมตัวมากที่สุด” ผศ.วิทยธมะ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“การลดลงของราคาในตลาดที่พักอาศัยจะไม่ช่วยพวกเขา เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องจ่ายหรือต้องวางเงินดาวน์มากขึ้น”

แอนเนก ทอมป์สัน (Anneke Thompson) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเครดิเตอร์วอตช์ (CreditorWatch) ยังได้เตือนอีกว่า การผิดนัดชำระในอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเพิ่มสูงนั้น หมายถึงการผิดนัดชำระของธุรกิจขนาดเล็กที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกร้อยละ 1 ในช่วงปีหน้า

ทั้งนี้ ย่านชานเมืองอย่างเซิร์ฟเฟอส์ พาราไดซ์ ในรัฐควีนส์แลนด์ และย่านออเบิร์น ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นไปได้ว่าจะเป็นพื้นที่ยอดนิยมในการพบการผิดนัดชำระสินเชื่อบ้าน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหนี้สินสำหรับธุรกิจในท้องถิ่น

คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีกไหม

ในแถลงการณ์จากธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย ดร.โลว์ ชี้ว่ามีช่องว่างในการหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมบอร์ดธนาคารที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า

“บอร์ดธนาคารคาดว่าจะดำเนินการในขั้นต่อไปในกระบวนการทำให้สภาวะทางการเงินเป็นปกติในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เส้นทางที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า” ดร.โลว์กล่าว

ด้านคุณทอมป์สัน กล่าวว่า การคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นเป็นงานที่ยุ่งยาก

“โชคและปัจจัยอื่นๆนอกเหนือการควบคุมของธนาคารสำรองจะบอกเล่าเรื่องราวในจุดนั้น” คุณทอมป์สันกล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมจาก AAP

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 3 August 2022 5:25pm
By Rayane Tamer
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand