เงินเฟ้อออสฯ แตะ 6.1% เพราะอะไร กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน

ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด ดัชนีราคาผู้บริโภคส่งอัตราเงินเฟ้อออสเตรเลียทะยานสูง 6.1% เอสบีเอสถามนักเศรษฐศาสตร์ถึงคำถามต่าง ๆ ที่หลายคนอยากรู้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนจากวิกฤตโลกและโรคระบาดใหญ่

News

Inflation is on the up in Australia. Source: SBS

ออสเตรเลียได้เผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ ส่งผลให้ผู้ถือสินเชื่อกู้บ้านต้องจ่ายมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) ซึ่งชี้วัดภาวะเงินเฟ้อในระดับครัวเรือน โดยในไตรมาสเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 เมื่อไตรมาสเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลียสูงที่สุดในรอบเกือบ 22 ปี

ราคาน้ำมันและราคาอสังหาริมทรัพย์ เป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดในการทำให้อัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาในระดับโลก และการบุกรุกยูเครนของรัสเซียซึ่งทำให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน

การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารต่าง ๆ ในความพยายามที่จะควบคุมสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อลงให้ได้ตามเป้าหมายที่ระหว่างร้อยละ 2-3
News
Inflation has hit a high this century. Source: SBS
หลังการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานติดกันถึง 3 ครั้งของธนาคารสำรองฯ ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอย่างเป็นทางการของออสเตรเลียขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.35 เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.1

“ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียกำลังเร่งดำเนินการด้วยวงจรที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์ และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสเดือนมิถุนายนจะผนึกแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกร้อยละ 0.5การวิเคราะห์ของมูดีส์ ระบุก่อนการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อ

ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA)  แนะว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และคาดว่าจะขึ้นไปถึงร้อยละ 7 ภายในสิ้นปีนี้

คำว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” กลายเป็นวาระสำคัญในการเมืองออสเตรเลียปีนี้ แต่สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร

ภาวะเงินเฟ้อหมายความว่าอย่างไร

แมตต์ กรัดนอฟฟ์ (Matt Grudnoff) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันแห่งออสเตรเลีย (Australia Institute) อธิบายภาวะเงินเฟ้อว่าเป็น “การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคา”

“สิ่งที่สำคัญก็คือ มันจะต้องเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“ตัวอย่างเช่น เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เคยเป็นมา นั่นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ถ้าราคาน้ำมันหยุดเพิ่มขึ้นและเริ่มลดลงมาหรือเป็นไปได้น้อยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแม้จะอยู่ในระดับราคาที่สูง สิ่งนั้นไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเติม นั่นเป็นสิ่งที่เกิดเพียงครั้งหนึ่ง”

อะไรทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นจากปัจจัยขับเคลื่อนทั้งในด้านอุปทานหรืออุปสงค์ ซึ่งในตอนนี้สงครามในยูเครนและผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา กำลังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนโดยปัญหาในเรื่องอุปทาน

“ภาวะเงินเฟ้อในตอนนี้กำลังเกิดขึ้นจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว

“ ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ ผู้คนสลับจากการซื้อบริการมาเป็นการซื้อสินค้า เนื่องจากบ่อยครั้งที่บริการนั้นรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว”

“สินค้าจำเป็นต้องมีการขนส่ง ซึ่งบริการไม่มีสิ่งนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณไปตัดผม หรือว่าไปดูหนัง เมื่อคุณเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่ถ้าหากคุณซื้อสินค้า นั่นจำเป็นจะต้องมีการขนส่ง ซึ่งบ่อยครั้งมาจากต่างประเทศ”

“ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือโครงข่ายในการขนส่งแน่นขนัดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และทุกสิ่งก็ช้าลง พวกเขาจึงต้องขึ้นราคา”

นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นได้มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อราคาโดยรวมของค่าครองชีพ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน

“สถานการณ์น้ำท่วมในออสเตรเลียได้ทำให้ของชำ อย่างผักกาดที่รู้จักกันดี มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว

มีรูปแบบของภาวะเงินเฟ้อที่แตกต่างหรือไม่

คำว่าภาวะเงินเฟ้อนั้น อาจหมายความได้ถึงหลายสิ่ง เช่น อาจหมายถึงการลดมูลค่าของสกุลเงิน แต่โดยทั่วไปนั้น ภาวะเงินเฟ้อจะหมายถึงดัชนีราคาผู้บริโภค

“เราจะคิดว่าภาวะเงินเฟ้อในฐานะดัชนีราคาผู้บริโภค นั่นคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคจะซื้อและใช้” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว

นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ชี้วัดเพียงสิ่งที่ได้รับการอุปโภคบริโภคหลังจากถูกซื้อมาแล้ว ไม่ใช่การลงทุนอย่างอสังหาริมทรัพย์ โดยกล่าวอีกว่า “หากราคาบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนมากถูกขับเคลื่อนจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูง นั่นจะไม่เพิ่มภาวะเงินเฟ้อขึ้นเลย เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค แต่ถือว่าเป็นการลงทุน”

ภาวะเงินเฟ้อถูกมองเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไปหรือไม่

แม้บ่อยครั้งที่ภาวะเงินเฟ้อถูกมองว่าเป็นสิ่งเลวร้าย นายกรัดนอฟฟ์กล่าวว่า หากเกิดขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก ก็อาจเป็นสัญญาณของระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

“ภาวะเงินเฟ้อบางอย่างก็เป็นเรื่องดี อันที่จริงแล้วหากเราไม่มีภาวะเงินเฟ้อเลย ธนาคารสำรองฯ และรัฐบาลก็จะต้องเข้ามาและพยายามกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการไม่มีภาวะเงินเฟ้อนั้น ตามปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่เชื่องช้าหรือไม่มีการเติบโตเลย”
สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อครั้งใหญ่และเกิดโดยไม่ได้คาดคิด นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เรากังวล แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอของภาวะเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น

ธนาคารสำรองฯ คืออะไร และจัดการภาวะเงินเฟ้ออย่างไร

ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) คือธนาคารกลางซึ่งเป็นอิสระ และอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลสหพันธรัฐ ในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมสำหรับธนาคารต่าง ๆ นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า  การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสำรองนั้นอาจส่งผลต่ออุปทานและอุปสงค์ ซึ่งในทางกลับกันคือการจัดการกับอัตราเงินเฟ้อ

เขากล่าวอีกว่า ธนาคารสำรอง ฯ ทำหน้าที่เหมือนธนาคารของรัฐบาล ซึ่งจะติดต่อกับรัฐบาลและธนาคารอื่น ๆ และทำให้แน่ใจว่าระบบมีเสถียรภาพ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของภาวะเงินเฟ้อก็คือ พวกเขาจะใช้นโยบายทางการเงิน ซึ่งก็คือการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว

นายกรัดนอฟฟ์ อธิบายว่า หากระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ด้วยดีก็จะมีอุปสงค์เป็นจำนวนมาก

“หากคุณมีธุรกิจ ทันใดนั้นคุณก็มีอุปสงค์เป็นจำนวนมากสำหรับสินค้าของคุณ  แรงงานของคุณก็เริ่มตึงไม้ตึงมือ แต่ผู้คนก็ยังต้องการสินค้าของคุณ คุณก็จะเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้น”

“แต่หากธุรกิจทุกแห่งทำแบบนี้เราก็จะมีภาวะเงินเฟ้อ อุปสงค์ที่เกินขึ้นมาจึงเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ”

"สิ่งที่ธนาคารสำรองฯ ทำคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหมายถึงประชาชนส่วนหนึ่งในออสเตรเลียที่ถือสินเชื่อกู้บ้านจะต้องจ่ายค่าบ้านมากขึ้นกว่าเดิม"

“พวกเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น จึงมีเงินเหลือน้อยที่จะนำไปใช้อย่างอื่น และทันใดนั้นพวกเขาก็ต้องการที่จะซื้อสินค้าน้อยลง”

“เมื่อถึงช่วงเวลาที่อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารสำรองฯ จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในความพยายามลดอุปสงค์ ดังนั้นจึงเป็นการลดอัตราเงินเฟ้อลง”
การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจึงลดอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ออสเตรเลียเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม G20

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในออสเตรเลียอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประวัติเงินเฟ้อของออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัดนอฟฟ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่ม G20 ซึ่งต่างกำลังรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามในยุโรป
Inflation in the G20 runs from 78.6 per cent to 2.3 per cent.
Inflation in the G20 runs from 78.6 per cent to 2.3 per cent. Source: SBS
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ G20 คือกลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลางจากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ รวมกับสหภาพยุโรป ซึ่งทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจโลก เช่น เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ

“หากภาวะเงินเฟ้อส่วนใหญ่เกิดจากแรงสะเทือนระดับโลกเหล่านี้ มันจึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายประเทศส่วนมากกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง” นายกรัดนอฟฟ์ กล่าว

“หากเรามองในประเทศกลุ่ม G20 ออสเตรเลียนั้นอยู่เกือบท้าย ๆ ประเทศในกลุ่มนี้ส่วนมากนั้น อยู่ในระดับ (อัตราเงินเฟ้อ) สูงกว่าเรา ดังนั้นเราจึงมีอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงนักเมื่อเทียบกับส่วนที่เหลือของโลก”
แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างสูง เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เราเคยคุ้นชินกับอัตราเงินเฟ้อประมาณน้อยกว่า 2% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
“ปกติแล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงสะเทือนของอุปทานจะมีผลเพียงครั้งเดียวต่อภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูง จากนั้นหยุดเพิ่มขึ้นไป คุณจะพบกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะไม่มีอะไรผลักดันราคาให้สูงขึ้นไปอีก”

“แต่มันก็จะหายไป เพราะว่าไม่มีอะไรผลักให้อัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปได้อีก”

“ดังนั้น มันอาจเป็นข้อถกเถียงที่ดีในประเด็นที่ว่า ธนาคารสำรอง ฯ ไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้อย่างรุนแรง"
ภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้จะถูกชำระล้างไปเอง

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ผลสำรวจเผยคนออสเตรเลีย 8 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิต


Share
Published 27 July 2022 6:35pm
Updated 27 July 2022 7:23pm
By Tom Canetti
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand