'อย่าจุดระเบิดตัวเองนะ': คำพูดของผู้จัดการที่ทำลูกจ้างมุสลิมน้ำตานอง

รายงานล่าสุดพบว่า เหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลียได้ย้ายจากสถานที่สาธารณะ เช่นศูนย์การค้า ไปยังที่ทำงานและโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ

OFFICE WORK

มีรายงานเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลียในที่ทำงานและโรงเรียน

ประเด็นสำคัญ
  • มีรายงานเหตุการณ์การเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและโรงเรียนเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • มีรายงานเหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลามในพื้นที่สาธารณะน้อยลง
  • การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการข้อจำกัดต่างๆ ในล็อกดาวน์ช่วงโควิดระบาดใหญ่
ชายชาวมุสลิมผู้นั้นกำลังอ่านหนังสือนโยบายต่างประเทศในที่ทำงาน เมื่อหัวหน้าของเขาเข้ามาถามว่าหนังสือเล่มนั้นเกี่ยวกับอะไร

“ผมบอกเขาว่ามันเป็นหนังสือเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถาน และความเกี่ยวข้องของพวกเขาในอัฟกานิสถาน” ลูกจ้างคนดังกล่าวเล่า

เขากล่าวว่า คำพูดตอบโต้ของหัวหน้านั้น "ไม่เหมาะสม" จนทำให้เขาน้ำตานอง ขณะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เพื่อนฟังในภายหลัง

“เขาพูดว่า “อย่าอ่านหนังสือเลย เพราะคุณอาจลงเอยด้วยการจุดระเบิดตัวเองในออสเตรเลีย” ลูกจ้างคนดังกล่าวเล่าถึงคำพูดของหัวหน้างานของเขา

“หลังจากนั้น เขาก็บอกว่า ‘คุณอ่านคัมภีร์อัลกุรอานไหม คุณอ่านคัมภีร์อัลกุรอานหรือเปล่า?

นักเรียนมุสลิมถูกครูทำให้ 'อับอาย'

เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ซึ่งถูกรายงานเข้ามาโดยชาวมุสลิม ต่อสำนักทะเบียนด้านความกลัวอิสลามแห่งออสเตรเลีย (Islamophobia Register of Australia)

รายงานล่าสุดจากองค์กรแห่งนี้ที่เผยแพร่ในวันอังคาร (21 มี.ค.) ระบุว่า จำนวนรายงานที่สำนักงานได้รับเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและโรงเรียนเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในอีกเหตุการณ์หนึ่งนั้น นักเรียนชาวปาเลสไตน์อายุ 12 ปีกำลังถือธงปาเลสไตน์อยู่ เมื่อครูถามว่าทำไมเขาถึง "ถือธงผู้ก่อการร้าย"

เด็กคนดังกล่าวรายงานว่า เขารู้สึก “ถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจและ … ถูกทำให้อับอายต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น” รายงานระบุ
กรณีที่สามเกี่ยวข้องกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีการเสนองานให้เธอทำก่อนที่เธอจะส่งเรซูเมไปด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่เธอแนบรูปภาพของตัวเองที่มีผ้าคลุมศีรษะแบบอิสลามลงในใบสมัคร ข้อเสนอที่จะให้เธอทำงานก็ถูกยกเลิกไป

“วันต่อมา เธอ (เจ้าของธุรกิจ) โทรหาฉันและเริ่มถามว่า ฉันรู้ไหมว่าเธอขายอะไร และเธอแค่ “คิด” (ที่จะให้งานทำ) เฉยๆ แต่เพราะฉันเป็นมุสลิม และเธอไม่แน่ใจว่าฉันจะรู้สึกอย่างไรกับการขายสินค้าที่บริษัทของเธอขาย ” หญิงคนนั้นเล่า

“เธอบอกอีกว่าเธอไม่รู้ว่าลูกค้าของเธอจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อ ‘ต้องติดต่อธุรกิจกับคนอย่างฉัน’ และไม่คิดว่าพวกเขาจะรับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เธอกล่าวต่อไปว่าเธอถามเรื่องนี้เพียงเพราะเธอทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและคิดว่ามันคงจะดูไม่ดี”
สารจากเราคือ เรามีบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อ เราสามารถให้การสนับสนุนพวกเขาได้

เหตุใดการล่วงละเมิดจึงเปลี่ยนจากชาวมุสลิมเป็นผู้มีเชื้อสายเอเชียในออสเตรเลีย

เมื่อมีการเริ่มเก็บรวบรวมรายงานเหตุการณ์เหล่านี้ครั้งแรกในปี 2014 รายงานส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เหยื่อไม่รู้จักผู้กระทำความผิด โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เช่น ศูนย์การค้าและในบริการขนส่งสาธารณะ แต่เหตุการณ์ที่เกิดจากผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเหยื่อเพิ่มขึ้นจาก 21 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018-2019 เป็น 24 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020-2021 สำนักทะเบียนด้านความกลัวอิสลามแห่งออสเตรเลีย (Islamophobia Register of Australia) ระบุ

คุณชารารา แอตไต ผู้อำนวยการบริหารของสำนักทะเบียนแห่งนี้ กล่าวว่า การมีรายงานเข้ามาเพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่เพียงเพราะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานมากขึ้น แต่ยังเป็นเพราะมีคนรายงานกันมากขึ้นเนื่องจากมีการสนับสนุนทางกฎหมายมากขึ้นสำหรับเหยื่อ

ในขณะที่โดยรวมแล้ว จำนวนเหตุการณ์ที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ลดลง คือจาก 248 เรื่องร้องเรียนในปี 2018-19 เป็น 90 เรื่องในปี 2020-21 การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด -19 ที่ลด “โอกาส” การก่อเหตุของผู้กระทำผิด ซึ่งถูกขัดขวางจากการเว้นระยะห่างทางสังคมและการล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม มี “การเปลี่ยนเป้าหมายชั่วคราว” จากชาวมุสลิมไปยังผู้มีเชื้อสายเอเชียในออสเตรเลีย

“การเพิ่มขึ้นอย่างมากของการต่อต้านชาวเอเชียและเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้รายงานความเกลียดชังชาวมุสลิมและการเหยียดชาวมุสลิมลดลงชั่วคราว” รายงานระบุ

คุณแอตไตเป็นห่วงว่า โดยรวมแล้วจำนวนรายงานที่มีเข้ามานั้นต่ำกว่าความเป็นจริง "อย่างมหาศาล" และมีผู้พบเห็นเหตุการณ์แต่ไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือเหยื่อมากขึ้นเรื่อยๆ

“บางครั้งก็มีความรู้สึกว่า 'จะรายงานไปเพื่ออะไรกัน' และผู้คนไม่เห็นประโยชน์ (ของการรายงาน)” คุณแอตไต กล่าว

“สารจากเราคือ เรามีบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อ เราสามารถให้การสนับสนุนพวกเขาได้”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 21 March 2023 11:53am
By Rashida Yosufzai
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand