ทัศนคติชาวออสซีกับวัคซีนโควิด 'ต้องการฉีดแต่ยังหวั่นผลข้างเคียง'

ผลสำรวจทัศนคติชาวออสซีต่อวัคซีนต้านโควิด พบ ปชช.อยากฉีดแต่ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง หลังหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพเปลี่ยนคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด ‘แอสตราเซเนกา’ พบเชื่อมโยงเคสลิ่มเลือดอุดตันเสียชีวิต

Nurses fill syringes with the COVID-19 AstraZeneca vaccine at the Claremont Showground mass vaccination centre in Perth.

Nurses fill syringes with the COVID-19 AstraZeneca vaccine at the Claremont Showground mass vaccination centre in Perth. Source: AAP

5 พ.ค. มีรายงานการศึกษาวิจัยล่าสุดที่ระบุว่า ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ต้องการวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ “มีความปลอดภัยและได้ผล” ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความลังเลใจในการไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม

การศึกษาวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ซึ่งได้มีการเผยแพร่รายงานการศึกษาวิจัยในวันนี้ (5 พ.ค.) ได้ทำการสำรวจประชาชนมากกว่า 3,000 คน เพื่อวิเคราะห์ถึงทัศนคติต่อโครงการเปิดตัววัคซีนต้านไวรัสโคโรนาในระยะแรกของออสเตรเลีย

การเปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหพันธรัฐได้พยายามระบุชี้ถึงปัญหาความกังวลในการไปรับวัคซีนของชาวออสเตรเลีย เช่นเดียวกับปัญหาด้านการจัดส่งวัคซีน ทั้งในแง่ของแหล่งการผลิตและการจัดจำหน่าย 

ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า ชาวออสเตรเลียมีความกังวลในโครงการเปิดตัววัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 64 เชื่อว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้รับการจัดการเป็นอย่างดี

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความต้องการในการรับวัคซีนของชาวออสเตรเลียนั้นยังอยู่ในระดับสูง และคงที่มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021

รายงานการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังระบุอีกว่า ชาวออสเตรเลียผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 54.7 กล่าวว่าพวกเขาจะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 “ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 43.7 ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีกร้อยละ 28 บอกว่าพวกเขาอาจจะไปรับการฉีดวัคซีน และอีกร้อยละ 11 กล่าวว่าพวกเขาอาจจะไม่ไปฉีดวัคซีน

“การค้นพบข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญมากในระหว่างที่รัฐบาลกำลังประสานความเชื่อมั่นจากสาธารณชน และความมั่นใจในโครงการฉีดวัคซีน” ศาสตราจารย์นิโคลัส บิดเดิล (Prof Nicholas Biddle) ผู้จัดทำรายงานการศึกษาวิจัยดังกล่าวระบุ

ความกังวลยังคงอยู่ในหมู่สมาชิกชุมชนหลากวัฒนธรรม

รายงานดังกล่าวยังได้สำรวจไปถึงความเต็มใจในการรับการฉีดวัคซีนในหมู่ผู้พูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ และพบว่าร้อยละ 44.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามจากภูมิหลังหลากภาษาทั้งหมด กล่าวว่าพวกเขาต้องการที่จะรับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทันทีที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้

แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความเต็มใจรับวัคซีนยังคงต่ำกว่าผู้ที่มีความคิดเห็นในทางตรงกันข้ามกว่าร้อยละ 58.2 

ศาสตราจารย์บิดเดิล กล่าวว่า ขณะที่ผลลัพธ์จากการศึกษาในครั้งนี้จะแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนการฉีดวัคซีนโดยทั่วไปในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ความลังเลใจนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดการ 

“ในเชิงนโยบายนั้น มีความจำเป็นโดยแท้จริงในการทำให้แน่ใจว่า สารที่ส่งออกไปยังประชาชนนั้นมีความสม่ำเสมอ และมีความระมัดระวังในส่วนของความกังวลจากชุมชนเหล่านี้” ศาสตราจารย์บิดเดิล กล่าว

“มันชัดเจนว่า อัตราความเต็มใจ (ในการฉีดวัคซีน) นั้นอยู่ในระดับต่ำ และมันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวเลขดังกล่าวที่จะต้องได้รับการบริหารจัดการในหนทางที่จะทำให้ความไม่เต็มใจนั้นหมดไป” 

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าเคยประสบกับพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ส่วนใหญ่มีความเต็มใจน้อยลงที่จะไปรับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

ในบรรดาผู้มีภูมิหลังจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษที่ระบุว่าเคยประสบพบเจอกับการถูกเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 17.1 จากทั้งหมดแสดงความลังเลที่จะไปรับการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความประสงค์ไปรับการฉีดวัคซีนจากกลุ่มเดียวกันในอัตราร้อยละ 14

“แม้จะมีการสนับสนุนการฉีดวัคซีนในชุมชนที่มีภูมิหลังจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังคงมีหลายปัจจัยที่เพิ่มอัตราความลังเลใจที่จะไปฉีดวัคซีน” ศาสตราจารย์บิดเดิล กล่าว

ทั้งนี้ โครงการของรัฐบาลสหพันธรัฐเพื่อรณรงค์การให้ข้อมูลโครงการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ต่อสาธารณชนนั้น ได้รวมถึงมาตรการเฉพาะเจาะจง ที่ออกแบบเพื่อเข้าถึงผู้คนจากชุมชนที่มีความหลายหลายทางภาษาและวัฒนธรรม (CALD) อีกด้วย
ความกังวลต่อการลังเลที่จะรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนานั้นเพิ่มสูงขึ้น หลังมีการเปิดเผยคำแนะนำด้านสาธารณสุขที่ได้รับการปรับปรุงสำหรับวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่มีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้รับการฉีดวัคซีนบางรายซึ่งพบได้น้อย

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐบาลแห่งชาติได้มีมติเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโคโรนาสำหรับชาวออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หลังคณะกรรมาธิการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (TGA) ได้เปลี่ยนแปลงคำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อแนะนำให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) ขณะที่ยังคงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) 

ผลสำรวจในการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่า คำแนะนำด้านสาธารณสุขในการรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่ได้รับการปรับปรุงนั้น ส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการฉีดวัคซีน โดยร้อยละ 50.4 ของผู้ที่ไม่ต้องการไปรับการฉีดวัคซีนกล่าวว่า เป็นเพราะผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากจากการรับวัคซีนของแอสตราเซเนกา 

ความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความลังเลในการไปรับการฉีดวัคซีน โดยคิดเป็นร้อยละ 63.3 ขณะที่ร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่แสดงความกังวลต่อวัคซีนกล่าวว่า พวกเขาวางแผนที่จะรอออกไปอีกสักระยะ เพื่อเฝ้าจับตาสถานการณ์วัคซีนก่อนที่จะตัดสินใจไปรับการฉีด

นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ร้อยละ 67.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดคิดว่า ออสเตรเลียควรที่จะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อทำให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาได้ แม้นั่นอาจหมายความว่าผู้คนในออสเตรเลียจะต้องรอวัคซีนเป็นเวลานานขึ้นก็ตาม


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 5 May 2021 11:55am
Updated 5 May 2021 12:08pm
By Tom Stayner
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand