รัฐบาลคงเพดานรับผู้อพยพ หวังเปิดพรมแดนกลางปี 2022

รัฐมนตรีคลังคาดผู้ย้ายถิ่นฐานทั้งชั่วคราวและถาวรทยอยเข้าออสเตรเลียได้ตั้งแต่กลางปี 2022 โดยนักศึกษาต่างชาติบางกลุ่มอาจเข้าได้ตั้งแต่ปีนี้

After the coronavirus pandemic shut international borders and effectively put a stop to the government’s migration program.

After the coronavirus pandemic shut international borders and effectively put a stop to the government’s migration program. Source: SBS News

ประเด็นสำคัญ

  • คาดพรมแดนระหว่างประเทศยังคงปิดจนกว่ากลางปี 2022
  • แผนรับผู้ย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียคงไว้ที่ระดับเดิม
  • ประมาณการจำนวนสุทธิผู้ย้ายถิ่นฐานต่างประเทศของออสเตรเลียคงตัวในระดับติดลบตลอดปีงบประมาณ 2021-22

เอกสารร่างงบประมาณแผ่นดินเผย รัฐบาลยังไม่เพิ่มจำนวนรับผู้ย้ายถิ่นฐานเมื่อเปิดพรมแดนช่วงปี 2022 แม้คาดการณ์จำนวนสุทธิผู้อพยพอยู่ในระดับติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

เพดานจำนวนรับผู้ย้ายถิ่นฐานมายังออสเตรเลียยังคงจำกัดอยู่ที่ 160,000 คนสำหรับปีงบประมาณ 2021-22 ขณะที่รัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับใบสมัครวีซ่าที่ยื่นจากในออสเตรเลีย รวมทั้งสะสางคำขอวีซ่าคู่ครองที่คั่งค้าง

จำนวนรับผู้ย้ายถิ่นฐานผ่านวีซ่าประเภทครอบครัวและแรงงานทักษะยังอยู่ในระดับเดิมเท่าปี 2020-21 ส่วนวีซ่าโครงการด้านมนุษยธรรมยังคงจำกัดที่ 13,750 คนต่อปี

ปีที่แล้ว จำนวนสุทธิผู้ย้ายถิ่นฐานต่างประเทศของออสเตรเลียร่วงถึงระดับติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นผลมาจากข้อกำหนดห้ามเดินทางและมาตรการปิดพรมแดน ประมาณการว่าอาจใช้เวลาอย่างน้อยสองปีจึงจะฟื้นคืนสู่ระดับก่อนภาวะโรคระบาด
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ใครได้ใครเสียกับงบประมาณแผ่นดิน 2021

เมื่อวันอังคาร (11 พ.ค.) นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก (Josh Frydenberg) เสนอร่างงบประมาณแผ่นดินฉบับที่สามนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีการคลังสหพันธรัฐ พร้อมทั้งเผยว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานทั้งประเภทชั่วคราวและถาวรอาจทยอยเข้าประเทศได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ซึ่งช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในร่างงบประมาณฉบับที่แล้วประมาณหกเดือน

ก่อนหน้านี้ นายฟรายเดนเบิร์กให้สัมภาษณ์กับเอสบีเอส นิวส์ ส่งสัญญาณว่ายังคงไม่ยกเลิกมาตรการห้ามเดินทางภายในสิ้นปีนี้ แต่ไม่ชี้ชัดว่าพรมแดนน่าจะเปิดช่วงเวลาใดของปี 2022

“การตั้งข้อสันนิษฐานเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด โดยพื้นฐานแล้วจึงไม่ชัดแจ้งแน่นอน” นายฟรายเดนเบิร์กกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงแคนเบอร์รา เน้นย้ำว่ากรอบเวลาในร่างงบประมาณไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าจะเปิดพรมแดนให้ใครเข้ามาบ้าง

ทั้งนี้ รัฐบาลยังใช้ร่างงบประมาณส่งสัญญาณถึงแผนนำนักศึกษาต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับเข้าออสเตรเลียตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021

นายไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีการเงิน กล่าวว่า รัฐบาลอยากเห็นพรมแดนระหว่างประเทศกลับมาเปิด “โดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ไม่เร็วไปกว่าจะเปิดได้อย่างปลอดภัย”

หากการกลับมาเปิดพรมแดนระหว่างประเทศล่าช้าตามที่สันนิษฐานกัน หมายความว่า จำนวนสุทธิผู้ย้ายถิ่นฐานต่างประเทศจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยในปีงบประมาณ 2021-22 คาดว่าจำนวนสุทธิผู้ย้ายถิ่นฐานจะลดลงมากกว่า 77,000 คน
ตัวเลขจำนวนสุทธิผู้ย้ายถิ่นฐานต่างประเทศ (Net Overseas Migration) แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากเท่าใดเดินทางเข้าออสเตรเลียและพำนักในประเทศมากกว่า 12 เดือน เทียบกับจำนวนผู้เดินทางออกจากประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน

การย้ายถิ่นฐานต่างประเทศ โดยทั่วไปคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของการเติบโตของจำนวนประชากรออสเตรเลีย ทว่า ประมาณการงบประมาณแผ่นดินชี้ว่า การย้ายถิ่นฐานต่างประเทศจะยังคงไม่กลับมาอยู่ในระดับบวกจนกว่าจะปี 2022-23 

อาจต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีกว่าปริมาณการย้ายถิ่นฐานต่างประเทศจะกลับมาแตะระดับก่อนภาวะโรคระบาด หรือมากกว่า 200,000 คนต่อปี

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า พรมแดนไม่น่ากลับมาเปิดได้จนกว่าประชากรออสเตรเลียส่วนใหญ่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ซึ่งร่างงบประมาณฉบับใหม่นี้สันนิษฐานว่า โครงการวัคซีนจะครอบคลุมประชากรอย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี 2021

“หากมองตามความเป็นจริง เราไม่น่าได้เห็นการย้ายถิ่นฐานฟื้นกลับมาอีกครั้งจะกว่าจะมีโครงการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและโครงการกักโรคที่ปลอดภัย” นางกาเบรียลลา เดอซูซา (Gabriela D’Souza) นักเศรษฐศาสตร์ประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (CEDA) กล่าวต่อเอสบีเอส นิวส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเสริมว่าผู้ย้ายถิ่นฐานมีความสำคัญยิ่งต่อการซ่อมแซมเศรษฐกิจของประเทศ

“ผู้ย้ายถิ่นฐานมีอายุน้อยกว่า ทำงานต่อไปได้นานกว่า จึงช่วยเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี และเงินที่พวกเขาชำระก็มาเพิ่มเข้าดุลการคลังของเรา”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 12 May 2021 3:38pm
By Maani Truu
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand