รัฐบาลออสฯ ให้งบช่วยผู้ถือวีซ่าที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว

กลุ่มช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า การที่ร่างงบประมาณแผ่นดิน ให้งบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย ที่หลบหนีจากความรุนแรง “เป็นตัวพลิกเกม” ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของบทสนทนาในประเด็นนี้ทั่วออสเตรเลีย

domestic violence, family violence, emotional abuse, gina, filipina

Source: Getty Images/SimonSkafar

ริทู ดาร์ (Ritu Dhar) เริ่มเก็บออมเงินเหรียญที่เป็นเงินจำนวนเล็กๆ น้อยๆ หลังจากเธอตกลงใจว่า เธอไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสามีที่กดขี่ขมเหงเธอได้อีกต่อไป

เพราะเพิ่งแต่งงานได้ไม่นานในออสเตรเลีย ริทูไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในประเทศใหม่ที่เธอเพิ่งย้ายมาอยู่

เธอถือวีซ่าชั่วคราวและขณะนั้นกำลังประสบความยากลำบาก โดยเธอไม่สามารถขับรถยนต์ไปไหนมาไหนได้ เธอไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ และไม่มีเพื่อนฝูงเลย เธอต้องพึ่งพาสามีที่เพิ่งแต่งงานกันไม่นานเพียงคนเดียวเท่านั้น

แต่ชายที่เธอแต่งงานด้วยไม่ได้เป็นคนอย่างที่เธอคาดหวังไว้ ริทู กล่าวว่า เขาไม่ได้ข่มเหงเธอทางร่างกาย แต่เขาบังคับควบคุมเธอ
Ritu Dhar came to Australia on a temporary visa, and originally struggled in the new surroundings.
Ritu Dhar came to Australia on a temporary visa, and originally struggled in the new surroundings. Source: Supplied
สองปีต่อมา หลังจากที่เธอให้กำเนิดลูกชาย เธอก็รู้ว่า เธอต้องหลบหนีจากเขา

“ตอนนั้น ฉันเต็มไปด้วยความหวาดกลัว” ริทู บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“ฉันหวั่นเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับชีวิตของฉันและกับลูกชายของฉัน”

เธอจึงคิดวางแผน และเริ่มเก็บออมเงินเหรียญ 5 เซนต์ จากทุกที่ที่เธอพบภายในบ้าน

“ฉันได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของเงินเหรียญ 5 เซนต์ โดยเชื่อมโยงได้ว่า 5 เซนต์จะกลายเป็น 1 ดอลลาร์ได้ และนั่นทำให้ฉันตระหนักถึงความสำคัญของเงินและการยืนได้ด้วยขาของตนเอง”

เธอใช้เงิน 20 ดอลลาร์ที่มาจากเงินเหรียญ 5 เซนต์ทั้งหมด เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่กับลูกชายวัย 1 ขวบ หลังจากเธอหลบหนีจากความสัมพันธ์ที่มีแต่การกดขี่ข่มเหงนั้น

16 ปีให้หลัง ริทู ดาร์ ขณะนี้เป็นผู้ช่วยครู ในรัฐวิกตอเรีย และเพิ่งซื้อบ้านและรถยนต์เป็นของตนเอง
สำหรับริทูแล้ว เธอจัดการหลบหนีพร้อมเงินเหรียญที่เก็บสะสมมาด้วยตนเอง แต่เธอกล่าวว่า ต่อไปนี้ คงจะง่ายขึ้นมากจากโครงการใหม่ของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวให้หลบหนีออกจากความรุนแรงในครอบครัวได้

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการต่างในร่างงบประมาณแผ่นดิน ได้รับการประกาศในวันอังคารที่ 11 พ.ค. โดยรัฐบาลให้คำมั่นจะให้งบ 30 ล้านดอลลาร์สำหรับ 3 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย ที่หลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัว

เงินดังกล่าวจะให้เป็นทุนสำหรับโครงการในระดับรากหญ้าต่างๆ และช่วยสนับสนุน “การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจ” สำหรับผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย

นอกจากนี้ โครงการนำร่องซึ่งช่วยเหลือผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราว ที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว จะขยายระยะเวลาต่อไปอีกหนึ่งปี โดยจะใช้ทุนดำเนินโครงการ 10 ล้านดอลลาร์

ส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวนี้ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาจะสามารถได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 ดอลลาร์ เพื่อจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟสำหรับที่พัก สำหรับสิ่งจำเป็นอื่นๆ และสำหรับบริการด้านการแพทย์

รัฐบาลกล่าวว่า นี่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้หญิงที่อาจไม่สามารถเข้าถึงบริการสังคมและเงินสวัสดิการจากรัฐบาลได้ เนื่องจากสถานะทางวีซ่าของพวกเธอ

“สิ่งที่รัฐบาลทำจะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ที่ฉันเคยประสบเมื่อ 16 ปีก่อน” ริทู กล่าว
ศูนย์กฎหมายสำหรับชุมชนและผู้หญิง 9 แห่ง (community and women’s legal centres)  ทั่วประเทศจะได้รับเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการย้ายถิ่นฐานได้

กลุ่มให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวยินดีกับมาตรการเหล่านี้ แต่กล่าวว่า ควรเกิดขึ้นนานแล้วสำหรับผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยต่างๆ

คุณ เรนาตา ฟิลด์ ผู้จัดการด้านการวิจัยและนโยบายสำหรับองค์กร ความรุนแรงในครอบครัวนิวเซาท์เวลส์ (Domestic Violence NSW) กล่าวว่า องค์กรได้เป็นเรียกร้องให้มีความช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยมานานแล้ว เพราะผู้หญิงกลุ่มนี้ประสบความรุนแรงในอัตราที่สูงกว่า อีกทั้งยังเผชิญอุปสรรคด้านภาษา และไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมได้

“มันเป็นเงินจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับความจำเป็นที่มี แต่ดีเยี่ยมที่มีเงินนี้ให้”

ผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวบางคนเผชิญกับการถูกข่มขู่จากคู่ครองของพวกเธอว่า พวกเธอจะถูกเนรเทศออกจากออสเตรเลีย คุณแคธ สคาร์ธ จาก AMES Australia องค์กรด้านการตั้งถิ่นฐานสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย กล่าว

เธอกล่าวว่า สำคัญยิ่งที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ของพวกเธอ

“มันเป็นปัญหาอย่างแท้จริงสำหรับผู้หญิงเหล่านั้นที่ถือวีซ่าชั่วคราว ที่กำลังประสบความรุนแรง” คุณแคธ สคาร์ธ กล่าว

“เพื่อที่เราจะสามารถทำให้แน่ใจได้ว่า พวกเธอได้รับการปกป้องจากความรุนแรงทางร่างกาย และจากทั้งการข่มขู่ที่บอกว่า ‘หากคุณไม่ทำตามสิ่งที่ฉันสั่งให้คุณทำ ฉันจะแจ้งกับกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและคุณจะถูกเนรเทศ’ นี่สำคัญอย่างมาก”

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ 

หรือติดต่อ สวัสดิภาพสมาคม เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนไทย ในโครงการ Pathway to Safety ของสมาคม ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือคนไทยในออสเตรเลียที่ประสบปัญหาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic and Family Violence) โทร. 02 9264 3166 หากไม่มีผู้รับสายสามารถฝากข้อความได้ หรืออีเมล twa@thaiwelfare.org


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 14 May 2021 2:29pm
By Rashida Yosufzai
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand