คุณจะช่วยเด็กที่มีความบอบช้ำทางจิตใจได้อย่างไร?

Caucasian mother comforting son

คุณแม่กำลังปลอบลูก Credit: Getty Images/Jose Luis Pelaez Inc

ไม่ว่าเด็กจะเคยมีบาดแผลทางจิตใจจากที่ไหน เวลาใด ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเด็กสามารถช่วยให้เด็กฟื้นฟูสภาพจิตใจให้รู้สึกปลอดภัยและมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้อีกครั้ง ฟังหรืออ่านวิธีช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก


ประเด็นสำคัญ
  • การบอบช้ำทางใจอาจกระทบโครงสร้างและการทำงานของสมองของเด็กได้
  • เด็กสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจจากบาดแผลในอดีตได้ด้วยความช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม
  • ในบางครั้งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งจำเป็น

กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

นายแพทย์เดฟ ปาซาลิช (Dr Dave Pasalich) ศาสตราจารย์และนักจิตวิทยาจากภาควิชาแพทยศาสตร์และจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (School of Medicine and Psychology at ANU) กล่าวว่ามีหลายสิ่งที่สามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่เด็กได้

“เด็กๆ ประสบความบอบช้ำทางจิตใจเมื่อพวกเขาเผชิญเหตุอันตรายหรือถูกคุกคาม ทำให้พวกเขารู้สึกหนักใจ เป็นทุกข์ หรือทำอะไรไม่ถูก เหตุการณ์เหล่านี้รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุรถยนต์ สงคราม ความรุนแรง หรือการที่ผู้ปกครองแยกทางกัน”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สิทธิ์ของเด็กในออสเตรเลีย

คุณนอร์มา บูลส์ (Norma Boules) เจ้าหน้าที่โครงการแทรกแซงระยะเริ่มต้นจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่น (Community Migrant Resource Centre หรือ CMRC) ที่เมืองพารามัตตา (Parramatta) ในเขตเกรทเทอร์ ซิดนีย์ (Greater Sydney) ทำงานดูแลเด็กตามแต่ละเคสและดูแลโปรแกรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง รวมถึงโครงการเซอร์เคิล ออฟ ซิเคียวริตี้ (Circle of Security) ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจอารมณ์ของเด็กๆ ได้ดีขึ้น

ตลอดการทำงาน 17 ปีที่ CMRC ของเธอ คุณบูลส์ย้ำว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือการช่วยให้ผู้ปกครองทราบว่าลูกกำลังมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ

“ฉันทำงานกับผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพที่มาจากประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาเจอเหตุการณ์รุนแรงมามากมาย ในตอนแรกครอบครัวจะไม่ยอมรับว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ฉันรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอายุ 3-4 ขวบก้าวร้าวเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่น บางคนมีความต้องการเฉพาะสิ่ง บางคนมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม”

นพ. ปาซาลิชอธิบายว่าการบอบช้ำทางจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อประสบในช่วงที่กำลังพัฒนา สามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองได้
เมื่อเด็กเผชิญเหตุการณ์รุนแรง โลกทั้งใบก็พลิกผันไป สิ่งที่เคยปลอดภัยกลับกลายเป็นสิ่งอันตรายและน่ากลัว
"เรารู้ว่าบาดแผลทางใจสามารถกระทบต่อสมองและพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ได้ รวมถึงสุขภาวะโดยรวมในระยะยาว บาดแผลทางใจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก วิธีคิด ความรู้สึก และวิธีที่พวกเขาสานความสัมพันธ์กับผู้อื่น สิ่งนี้จึงกระทบต่อความประพฤติที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น บาดแผลทางใจอาจทำให้เด็กรู้สึกเครียดตลอดเวลา มองเห็นทุกสิ่งเป็นภัยคุกคามมากกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยและหวาดกลัว”
mother with 2 children on playground
Circle of Security เป็นโปรแกรมช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจอารมณ์ของลูก Credit: Mikael Vaisanen/Getty Images
นพ. ปาซาลิซกล่าวว่าระบบสมองอาจไวต่อภัยคุกคามมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและความกลัว

“เด็กๆ ที่ต้องเจอเหตุสะเทือนใจเป็นเวลานาน สมองและร่างกายจะเข้าสู่โหมดเอาตัวรอด พวกเขาทำเช่นนี้เพื่อปรับตัวกับความวุ่นวายและอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
หากเด็กเผชิญความรุนแรงที่บ้านบ่อยๆ พวกเขาจะตื่นตัวมากและร่างกายจะตื่นตัวมากไปเกือบทั้งวัน แม้ว่าจะไม่เกิดความรุนแรงก็ตาม
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กจะช่วยได้อย่างไร?

คุณเมลานี ดีฟโฮลท์ส (Melanie Deefholts) ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนในออสเตรเลียเป็นเวลา 14 ปี เน้นถึงความสำคัญของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กในการดูแลสภาพจิตใจและอารมณ์ของตนเองก่อน

“ตระหนักถึงอารมณ์ที่ตอบสนองหรือเมื่อคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของคุณได้ นั่นไม่ใช่สถานการณ์ที่คุณจะสามารถเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ เพราะคุณควบคุมตัวเองไม่ได้ และหากคุณควบคุมตัวเองไม่ได้ เด็กจะควบคุมพวกเขาเองได้อย่างไร”
นพ. ปาซาลิซกล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับความรู้สึกและความต้องการของเด็ก

“อันดับแรกสิ่งที่สำคัญมากคือใช้สิ่งที่เราเรียกว่าการเลี้ยงดูแบบละเอียดอ่อน การทราบว่าพฤติกรรมของลูกของคุณอาจกำลังบอกถึงความต้องการลึกๆ ของพวกเขา เช่น หากเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยและโลกเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ พวกเขาอาจแสดงพฤติกรรมที่ชอบควบคุมหรือก้าวร้าว แต่แทนที่จะเลือกตอบสนองกับพฤติกรรมเหล่านี้ เราควรพยายามถอยออกมาหรือพยายามตอบสนองต่อความต้องการความปลอดภัยลึกๆ ของเด็ก”

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคงที่บ้านก็เป็นสิ่งสำคัญ
การเป็นพื้นที่ปลอดภัยและการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญของผู้ปกครอง
"การแน่ใจว่าทุกคนในครอบครัวสามารถดำเนินกิจวัตรตามปกติสามารถสร้างโครงสร้างในชีวิตของเด็กและช่วยให้รู้สึกคาดเดาได้และปลอดภัยมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือการใช้เวลากับลูกและให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น รักษาความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกับลูกก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญหลังมีเหตุสะเทือนใจเกิดขึ้น ลูกของคุณต้องการเห็นคุณสงบและให้ความรัก เพื่อที่จะสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้”
Father and daughter wearing robot costumes at home
การมีสมาธิสั้น ตื่นตัวมากเกินไป ตื่นตกใจ หรือสะดุ้งง่าย หรือเด็กอาจมีอาการตื่นตัวน้อยได้เช่นกัน เด็กอาจเคลื่อนไหวช้าหรือเฉื่อยชา ไม่สามารถตั้งสมาธิได้ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือมีส่วนรวมน้อยลง Credit: MoMo Productions/Getty Images
นพ. ปาซาลิซกล่าวว่าเด็กหลายคนสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ตามธรรมชาติ แต่บางครั้งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นสิ่งจำเป็น

“หากลูกของคุณไม่มีท่าทีที่จะฟื้นฟูได้หรือปัญหาอาจบานปลายและกลายเป็นกระทบกับชีวิตประจำวัน ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ความช่วยเหลือที่มาจากนักบำบัดที่ผ่านการอบรมและมีการรับรอง เช่น นักจิตวิทยาหรือที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต ใครก็ตามที่มีประสบการณ์ในการทำงานบำบัดการบอบช้ำทางจิตใจของเด็ก”

คุณบรี เดอ ลา ฮาร์ป (Bree De La Harpe) เป็นนักบำบัดที่มูลนิธิ บี เซ็นเตอร์ (Be Centre) ที่เมืองวาร์รีวูด (Warriewood) กล่าวว่าการเล่นบำบัด (play therapy) เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานกับเด็ก

“หากผู้ใหญ่มีบาดแผลทางใจ พวกเขาจะไปพบที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อพูดคุยถึงความรู้สึกและพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องที่พวกเขาประสบ แต่สมองของเด็กยังไม่พัฒนา ส่วนหน้าของสมองซึ่งดูแลเรื่องนี้ยังไม่พัฒนา การเล่นบำบัดเป็นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ พวกเขาจะใช้การเล่นเพื่อบรรเทาเรื่องราวและสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาเผชิญ โดยของเล่นคือคำพูดของพวกเขา”
Child Psychotherapy
หากผู้ปกครองสามารถมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลแก่เด็กๆ ได้ เด็กๆ จะสามารถฟื้นตัวจากความบอบช้ำทางใจได้ Credit: aquaArts studio/Getty Images
คุณเทียน่า วิลสัน (Tiana Wilson) นักจิตวิทยาและนักเล่นบำบัดที่บี เซ็นเตอร์อธิบายว่าการเล่นบำบัดอาจเป็นวิธีจัดการกับบาดแผลในอดีตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความบอบช้ำทางใจหลายครั้งเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ หรือถูกกระตุ้น ความบอบช้ำทางใจเป็นเรื่องที่สามารถให้ความช่วยเหลือและรักษาได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขในทันที แต่หากสามารถให้ความช่วยเหลือได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี”

เด็กสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจจากบาดแผลทางใจที่ซับซ้อนได้ด้วยความช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม
ผมคิดว่ามีความหวังสำหรับเด็กที่จะฟื้นฟูจากบาดแผลทางใจที่ซับซ้อนได้เสมอ ตราบใดที่พวกเราให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับพวกเขา
"และความช่วยเหลือเหล่านี้ต้องเน้นที่ความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและเหนียวแน่นระหว่างผู้ดูแลเด็ก ครู นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใหญ่คนอื่นในชีวิตของเด็ก หากเด็กได้รับความช่วยเหลือที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน เราจะเห็นเด็กฟื้นตัวจากความบอบช้ำทางใจในชีวิตของพวกเขาได้”

ข้อมูลความช่วยเหลือที่ออสเตรเลีย

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand