แคมเปญใหม่ป้องกันนศ.ต่างชาติถูกโกงค่าจ้าง

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ  Fair Day's Work

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ Fair Day's Work Source: SBS News

องค์กรสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติเป็นหัวหอกต่อสู้เพื่อหยุดการโกงค่าจ้าง โดยเปิดตัวแคมเปญใหม่มุ่งเป้ากลุ่มนักศึกษา สร้างความรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายให้รู้จักตระหนักถึงความเสี่ยงเมื่อมองหางาน


ไชน่าทาวน์ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของนครแอดิเลดเป็นย่านกินดื่มยอดนิยมของคนในท้องที่ ทว่า นายแจ็คกี เฉิน (Jackie Chen) ปฏิเสธที่จะใช้บริการร้านในไชน่าทาวน์ และไม่ได้มีเพียงเขาที่คิดเช่นนี้

นายเฉินก่อตั้งองค์กรสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติในแอดิเลดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาเล่าว่า ได้พูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติกว่า 300 คนที่มีประสบการณ์ถูกโกงค่าจ้าง

"ตอนนี้มีชื่อในบัญชีดำมากกว่า 150 รายชื่อ จากแค่เฉพาะในแอดิเลด โดยส่วนใหญ่อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ"

เหตุการณ์ทำร้ายพนักงานร้านชาไข่มุกแห่งหนึ่งในแอดิเลดเพ่งความสนใจไปยังการปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติ แม้เจ้าของร้านชาดังกล่าวไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายครั้งนี้ แต่ภายหลังยอมรับว่า พนักงานรายนี้ได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

"ค่าจ้าง 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงพบเจอได้ทั่วไปในแอดิเลดโดยเฉพาะในงานธุรกิจบริการ ในกลุ่มของเรา ผมพูดได้ว่าค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่ได้น้อยกว่า 15 ดอลลาร์ และน้อยสุดแค่ชั่วโมงละ 3 ดอลลาร์"

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ตรวจการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) กำหนดเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 1.75 ดอลลาร์ โดยจากข้อมูลเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อชั่วโมงของออสเตรเลียอยู่ที่ 19.84 ดอลลาร์
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหพันธรัฐได้เสนอปรับเพิ่มบทลงโทษสำหรับกรณีโกงค่าจ้าง การปฏิรูปด้านแรงงานสัมพันธ์วาระใหม่นี้จะทำให้นายจ้างที่จงใจจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากำหนดอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และต้องจ่ายค่าปรับมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์

ผู้ตรวจการฯ ยังอยู่ระหว่างสอบสวนร้านชาไข่มุกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์ต่างชี้ว่า ฝ่ายผู้ตรวจการต้องการเครื่องมือและความช่วยเหลือมากกว่านี้

ด้านมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกำลังพัฒนาฐานข้อมูลผู้กระทำผิดกรณีโกงค่าจ้าง พร้อมช่องทางเข้าถึงออนไลน์เพื่อช่วยนักศึกษาพิจารณาปัจจัยเสี่ยง

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ  Fair Day's Work

ต้องการให้ทางการใช้ฐานข้อมูลนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้สามารถจับตามองบริษัทที่มีแนวโน้มสูงว่าจะโกงค่าจ้าง

"ที่เราทราบคือ จริงอยู่ที่การเพิ่มบทลงโทษกรณีโกงค่าจ้างเป็นส่วนสำคัญของสมการนี้ แต่ถ้าความเสี่ยงในการตรวจพบของเราไม่สูงพอ บทลงโทษก็แทบไม่มีความหมาย งานวิจัยของเราชี้ว่า หากความเสี่ยงในการตรวจพบอยู่ในระดับต่ำ บทลงโทษก็ไม่อาจมีบทบาทมากเท่าที่เราอยากให้เป็น" นายคาริโอทิสกล่าว

สมาพันธ์นักศึกษาแห่งชาติออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาว่าด้วยสิทธิตามกฎหมายของพวกเขา นางสาวโซอี รังกาเนทาน (Zoe Ranganathan) ประธานสมาพันธ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

"เราควรต้องให้ความช่วยเหลือที่นักศึกษาต่างชาติต้องการก่อนที่การประทุษร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้น"

สอดคล้องกับความเห็นของนายเฉิน ที่กล่าวว่า

"นักศึกษาต่างชาติจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์เพื่อมาเล่าเรียนในออสเตรเลีย เมื่อมาถึงแล้วก็แค่ต้องการงานพาร์ทไทม์เพื่อจ่ายบิล จ่ายค่าเช่า จึงไม่เป็นธรรมเลยที่ไม่ว่าหางานที่ไหนก็เจอแต่ที่จ่าย 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด

นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand