ผู้คนในออสเตรเลียสูญเงินให้สแกมเมอร์มากเป็นประวัติการณ์

Scammers

Scammers Source: Pixabay/teguhjati pras

รายงานจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ระบุว่า ชาวออสเตรเลียสูญเสียเงินให้แก่นักต้มตุ๋นหลอกลวงมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 การหลอกลวงที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับชาวออสเตรเลียคือ การหลอกลวงด้านการลงทุน และการหลอกให้รักเพื่อลวงเอาเงิน (romance scams)


ในปี 2020 นักต้มตุ๋นหลอกลวงฉวยโอกาสจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 เพื่อล่อลวงประชาชนที่ไม่ทันระวังตัวในช่วงวิกฤตด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น

ชาวออสเตรเลียสูญเงินให้แก่การหลอกลวงจากมิจฉาชีพมากเป็นประวัติการณ์ถึง 851 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว

โดยนี่เป็นสถิติจากรายงานล่าสุดที่เปิดเผยออกมาในวันจันทร์ ที่ 7 มิ.ย. โดยคณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือ เอทริปเปิลซี (ACCC)
LISTEN TO
Australians lost millions to scams in 2020 image

ผู้คนในออสเตรเลียสูญเงินให้สแกมเมอร์มากเป็นประวัติการณ์

SBS Thai

11/06/202108:54
คุณ ดีเลีย ริกคาร์ด (Delia Rickard) รองประธานเอทริปเปิลซี กล่าวว่า โชคร้ายที่นักต้มตุ๋นหลอกลวง มีกลยุทธ์หลากหลาย ที่ใช้หลอกลวงผู้คนได้ทุกคน

“รูปแบบของกลอุบายในการหลอกลวงที่แตกต่างกันล่อใจกลุ่มคนที่แตกต่างกัน เราจึงมีคนที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สูญเสียเงินไปมากที่สุด และพวกเขามักตกเป็นเหยื่อกลการหลอกลวง เช่น การหลอกลวงให้ลงทุน การหลอกให้รักเพื่อลวงเอาเงิน (romance scams) การแอบเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์จากทางไกล หรือ remote access scam"

"คนที่อายุน้อยกว่านั้นมักตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงให้ซื้อของออนไลน์ การหลอกลวงเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) โดยมิจฉาชีพเชื่อมโยงเรื่องราวของพวกเขาให้เข้ากับสถานการณ์ในท้องถิ่น ดังนั้น การระบาดใหญ่ของโควิดจึงเป็นโอกาสเหมาะสำหรับนักต้มตุ๋นหลอกลวงเป็นอย่างยิ่ง” คุณ ริกคาร์ด (Delia Rickard) รองประธานเอทริปเปิลซี กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แชร์ลูกโซ่:ภัยร้ายคู่ชุมชนไทย

รายงานของคณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือ เอทริปเปิลซี (ACCC) ฉบับนี้ใช้ข้อมูลจาก สแกมวอตช์ (Scamwatch) รีพอร์ตไซเบอร์ (ReportCyber) จากหน่วยงานราชการอื่นๆ และจากธนาคารและบริษัทตัวกลางทางการเงินอื่นๆ 10 แห่ง

โดยข้อมูลมาจากรายงานกว่า 444,000 ฉบับ

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างคุณ ริกคาร์ด เตือนว่า กลอุบายที่ใช้หลอกลวงเหยื่อของมิจฉาชีพนั้นกำลังมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ

“นักต้มตุ๋นหลอกลวงต้องการข้อมูลส่วนตัวของคุณ เพื่อที่พวกเขาจะพยายามเข้าถึงเงินเก็บหลังเกษียณของคุณ หรือเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินของคุณ และใช้ข้อมูลนั้นเพื่อการฉ้อโกงเงินอื่นๆ พวกเขาทำได้อย่างเยี่ยมยอดในการแอบอ้างและเสแสร้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล และเนื่องจากประชาชนกำลังคาดหวังว่าจะได้รับการติดต่อจากรัฐบาลในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีมิจฉาชีพติดต่อมา เช่นเดียวกับในช่วงที่เกิดไฟป่าต้นปีที่แล้ว มีการหลอกลวงให้บริจาคเงินเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ซึ่งในขณะนั้นประชาชนยินดีบริจาคเงินช่วยเหลือเหยื่อไฟป่า แต่ปรากฎว่าไม่ใช่” คุณริกคาร์ด ยกตัวอย่าง

การหลอกลวงให้ลงทุนเป็นกลอุบายที่หลอกเงินผู้คนไปได้สูงสุดในปีที่แล้ว โดยประชาชนสูญเงินไปถึง 328 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเงินที่สูญไปกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพทั้งหมดในปี 2020
การหลอกให้รักเพื่อลวงเงิน หรือ romance scams ตามมาเป็นอันดับสอง โดยประชาชนสูญเงินไปกับการหลอกลวงประเภทนี้ราว 131 ล้านดอลลาร์

ศ.โมนิกา วิตที (Monica Whitty) ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า เธอได้ทำการวิจัยที่มุ่งเน้นว่า เหตุใดผู้หญิงจึงมีแนวโน้มมากกว่าที่จะถูกหลอกจากกลอุบายหลอกให้รักเพื่อลวงเงิน

“ผู้หญิงที่อายุมากหน่อย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคนมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะให้เงินแก่ผู้อื่น มีมายาคติมากมายที่ว่า คนที่ถูกหลอกให้รักเพื่อลวงเงินมีแนวโน้มมากกว่าที่จะเป็นผู้ที่เหงาใจ แต่หากคุณเปรียบเทียบผู้ที่มองหารักผ่านช่องทางออนไลน์และจำนวนผู้ที่ถูกหลอกกับผู้ที่ไม่ได้ถูกหลอก มันไม่มีความเกี่ยวพันธ์กัน มันเป็นแค่ว่า พวกเธอมีเงินทองมากกว่าคนกลุ่มอื่นและมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะให้เงินแก่ผู้อื่นมากกว่า จึงมักตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพมากกว่า” ศ.วิตที ให้เหตุผล

ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ยังถูกหลอกลวงจากการถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีมิจฉาชีพ หรือที่เรียกว่า payment redirection scam ส่งผลให้ผู้คนสูญเงินไป 128 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ศ.วิตที กล่าวว่า จำนวนของการหลอกลวงก็เพิ่มมากขึ้นด้วยในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด ขณะที่ คุณริกคาร์ด เผยว่า แม้การหลอกลวงส่วนใหญ่จะมาจากมิจฉาชีพในต่างประเทศ แต่มีนักต้มตุ๋นหลอกลวงในท้องถิ่นเกิดขึ้นเช่นกัน

จำนวนเงินที่ผู้คนสูญเสียไปกับการหลอกลวงอยู่ที่เฉลี่ย 7,600 ดอลลาร์

คุณ ริกคาร์ด รองประธานเอทริปเปิลซี จึงขอให้ผู้คนในออสเตรเลียอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวแต่ผู้ใดทางโทรศัพท์หรือทางอีเมลโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าใครติดต่อมา

“หลักพื้นฐานเลยคือ หากมีใครคนหนึ่งที่จู่ๆ ก็ติดต่อคุณมาทางโทรศัพท์ อีเมล หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าพวกเขาจะกล่าวว่าตนเองเป็นใคร หรือเสแสร้งว่าเป็นใคร อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณแก่พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางการเงิน อย่าให้เงินแก่พวกเขา และอย่าให้พวกเขาเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้จากทางไกล (remote access)"

"หากคุณคิดว่าพวกเขาอาจเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อมาจริงๆ ให้วางสาย แล้วค้นหาทางกูเกิลด้วยตนเองสำหรับหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของหน่วยงานนั้นและโทรศัพท์ไปตรวจสอบ” คุณ ดีเลีย ริกคาร์ด (Delia Rickard) รองประธานเอทริปเปิลซี ย้ำ

เชื่อกันว่าเนื่องจากผู้คนจำนวนมากไม่ได้แจ้งแก่หน่วยงานคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเมื่อพวกเขาตกเป็นเหยื่อนักต้มตุ๋นหลอกลวง ดังนั้นจำนวนเงินที่ผู้คนสูญเสียไปที่แท้จริงจึงอาจสูงกว่านี้มาก

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับรายงาน Targeting Scams Report ของ ACCC รวมทั้งหาข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของการหลอกลวงที่พบในออสเตรเลีย และแจ้งร้องเรียนเรื่องการหลอกลวงได้ที่เว็บไซต์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand