คนผ่อนบ้านอ่วม แบงก์ชาติออสฯ ขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้ว

คนกู้บ้านกระเป๋าฉีกอีก แบงก์ชาติออส ฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีกครึ่งเปอร์เซ็นต์ ส่งผลดอกเบี้ยส่งสินเชื่อบ้านทะยานสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

A white man in glasses and a suit

It's the fifth consecutive month that the central bank has raised the cash rate. Source: AAP / Joel Carrett

ประเด็นสำคัญในบทความ
  • ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นอีก 0.5% เป็น 2.35%
  • บอร์ดธนาคารสำรอง ฯ ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นอีกร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 และเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 ในความพยายามของธนาคารสำรอง ฯ เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ

ดร.ฟิลิป โลว์ (Dr.Philip Lowe) ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ กล่าวว่า บอร์ดธนาคารสำรอง ฯ ได้ให้คำมั่นในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในเป้าหมายที่ระหว่างร้อยละ 2-3

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในวันนี้จะช่วยนำอัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในเป้าหมาย และสร้างสมดุลที่ยั่งยืนของอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย” ดร.โลว์ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ก.ย.)
จิม ชาลเมอส์ (Jim Chalmers) รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลสหพันธรัฐ ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวคือ “ข่าวที่สร้างความลำบากใจ” สำหรับผู้ถือสินเชื่อที่พักอาศัยจำนวนมาก

“มันเป็นเรื่องยาก สิงนี้จะทำให้ต้องรัดเข็มขัดงบประมาณครัวเรือน มันจะสร้างแรงกดดันต่อชาวออสเตรเลียจำนวนมากที่กำลังตึงตัวมากพอแล้ว” รัฐมนตรีชาลเมอส์ กล่าวในรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (6 ก.ย.)

“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานครึ่งเปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเจ้าของบ้านโดยทั่วไปที่มียอดสินเชื่อที่พักอาศัยคงเหลือ $330,000 ดอลลาร์ จะพบว่าต้องจ่ายค่างวดเพิ่มอีกประมาณเดือนละ $95 ดอลลาร์”

“สำหรับชาวออสเตรเลียที่มียอดสินเชื่อที่พักอาศัยคงเหลือราว $500,000 ดอลลาร์ นั่นจะเป็นค่างวดอีก $145 ดอลลาร์ที่ต้องจ่ายเพิ่มจาก $475 ดอลลาร์ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม”

ทำไมอัตราดอกเบี้ยจึงเพิ่มแบบก้าวกระโดด

แม้ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ คาดไว้เมื่อปีก่อนไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะไม่ปรับขึ้นจนกระทั่งอย่างน้อยปี 2024 แต่ก็ได้มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในความพยายามของธนาคารสำรอง ฯ เพื่อรับมือกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว

สกอตต์ ฟิลิปส์ (Scott Phillips) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนจากบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน มอทลีย์ ฟูล ออสเตรเลีย (Motley Fool Australia) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีตนั้น “เคยได้ผลค่อนข้างดีในการขจัดภาวะเงินเฟ้อ”

“ปัญหาก็คือมันเจ็บปวดมากในระหว่างนั้น และธนาคารสำรอง ฯ ก็มีทางเลือกที่เลวร้ายอยู่สองอย่าง” คุณฟิลิปส์ กล่าว

“พวกเขาอาจจะปล่อยให้เงินเฟ้อลอยสูงแล้วก็ทบขึ้นไปจากอัตราที่สูงนั้น ซึ่งอาจจะนานหลายปี หรือไม่ก็พยายามและสร้างความเจ็บปวดในตอนนี้ ไม่ใช่เพราะอยากทำให้ใครเจ็บ แต่พวกเขารู้ว่าอย่างน้อยมันก็เป็นวิธีที่ได้ผลในอดีตในการขจัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว”

เมื่อไหร่อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะหยุดเพิ่มขึ้น

มีความเป็นไปได้น้อยที่ธนาคารสำรอง ฯ จะหยุดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่บอร์ดธนาคาร ฯ ได้ให้สัญญาณว่าอาจจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง “ภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”

“ขนาดและช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะถูกชี้นำโดยข้อมูลต่าง ๆ และการประเมินของบอร์ดธนาคาร ฯ ต่อแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน” ดร.โลว์กล่าว

ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ กล่าวอีกว่า มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะถึงจุดสูงสุดในปลายปีนี้ จากนั้นจะลดลงสู่ระยะเป้าหมายในภายหลัง แต่ก็ได้ชี้ว่าภาคการใช้จ่ายในครัวเรือนนั้นยังคงเป็น “แหล่งสำคัญของความไม่แน่นอน”
แต่คุณฟิลิปส์กล่าวว่า ระหว่างที่ประเทศอื่นในโลกกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงกว่าออสเตรเลีย เขาคาดว่าธนาคารสำรอง ฯ จะยังคงดำเนินแนวทางที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ต่อไป

“ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ที่ RBA ยังคงยิงปืนออกไปก่อนแล้วค่อยถามคำถามทีหลัง ผมคิดว่าพวกเขาจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้แน่ใจว่าขจัดภัยเงินเฟ้อ มากกว่าที่ปล่อยง่ายเกินไปจนมันหลุดรอดไปได้” คุณฟิลิปส์กล่าว

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

เดเมียน รอยแลนซ์ (Damien Roylance) กรรมการผู้จัดการจากบริษัทด้านสินทรัพย์และการเงินเอ็นทูเรจ (Entourage) กล่าวว่า หนทางเดียวในการนำร่องผ่านอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นั่นคือการสอบถามกับทางสถาบันการเงินเพื่อหาบริการทางการเงินที่ดีกว่า

“ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสินเชื่อตัวใหม่และสินเชื่อตัวเก่าอาจสูงถึง 1% ซึ่งหมายความว่ายิ่งคุณอยู่กับธนาคารของคุณนานเท่าไรก็ยิ่งเป็นไปได้ว่าจะต้องจ่ายมากขึ้นเกินกว่าจำเป็น” คุณรอยแลนซ์กล่าว

แต่ถึงแม้ดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ คุณรอยแลนซ์กล่าวว่า อาจเป็นการดีกว่าที่ผู้ถือสินเชื่อจะนำเงินสำรองที่มีอยู่เข้าไปยังบัญชีออฟเซ็ต ซึ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยโดยรวมที่ผู้ถือสินเชื่อบ้านต้องจ่าย และอาจหมายถึงการจ่ายค่างวดเพื่อปิดยอดสินเชื่อบ้านได้เร็วขึ้น
คุณรอยแลนซ์ กล่าวอีกว่า การรีไฟแนนซ์สินเชื่อของคุณอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

“ตอนนี้ธนาคารหลายแห่งกำลังพยายามดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นในระดับต่ำ และข้อเสนอคืนเงินสำหรับสินเชื่อรีไฟแนนซ์” คุณรอยแลนซ์กล่าว

“หากคุณถือสินเชื่ออยู่กับธนาคารเดียวเป็นระยะหนึ่ง ตอนนี้ก็อาจจะเป็นเวลาที่ดีในการมองหาทางเลือกอื่น และดูว่าคุณจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากธนาคารอื่นหรือไม่”

แต่ คุณปีเตอร์ ไวท์ (Peter White) กรรมการผู้จัดการสมาคมนายหน้าการเงินแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานครั้งล่าสุดทำให้ผู้กู้ยืมพบว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะรีไฟแนนซ์” สินเชื่อที่ถืออยู่ และต้องติดอยู่ใน “พันธนาการสินเชื่อ”

“พูดอีกอย่างก็คือ พวกเขาถูกบังคับให้อยู่กับผู้ปล่อยสินเชื่อรายเดิมไม่ว่าจะถูกเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม เพราะพวกเขาไม่ได้รับการประกันสินเชื่อตัวใหม่เนื่องจากอัตราประเมินใบสมัครของพวกเขา ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1-2% มากกว่าอัตราดอกเบี้ยจริง” คุณไวท์กล่าว

คุณไวท์ กล่าวว่า ผู้กู้ยืมที่มีความกังวลเกี่ยวกับค่างวดที่เพิ่มขึ้นควรติดต่อนายหน้ากู้บ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อพูดคุณเกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขา

“นายหน้ากู้บ้านมีข้อผูกมัดทางกฎหมายในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้กู้ยืม ภายใต้กฎหมายว่าด้วยหน้าที่เพื่อผลประโยชน์สูงสุด ขณะที่ธนาคารไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

รายงานเพิ่มเติมโดย คุณแฮนนา ควอน (Hannah Kwon)


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 7 September 2022 6:04pm
By Amy Hall
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand