ราคากาแฟเซเว่นขึ้น $1 ดอลลาร์ สะท้อนปัญหาผู้ไร้บ้านและสวัสดิการรัฐ

กาแฟ $1 ดอลลาร์ของร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” จะเพิ่มราคาเป็น $2 ดอลลาร์หลังวันที่ 4 ต.ค.นี้ การขึ้นราคาครั้งนี้ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการแก้ปัญหาผู้ไร้บ้านในออสเตรเลีย

7-Eleven logo with man selling the Big Issue magazine.

Lionel Farnham, who's sold The Big Issue for 25 years, says many homeless Australians won't be able to afford $2 coffees. Credit: supplied image and Getty.

กาแฟร้อนราคา $1 เมนูยอดนิยมในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น จะเพิ่มราคาขึ้นเป็น $2 ดอลลาร์ โดยเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 13 ปี และคาดว่าราคาใหม่จะมีผลในวันอังคารที่ 4 ต.ค.นี้

การปรับราคาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ที่ผ่านมา

ขณะที่ชาวออสเตรเลียจำนวนมากยังคงเพลิดเพลินกับกาแฟดังกล่าวในราคาถูก แต่สำหรับผู้ไร้บ้านจำนวนไม่น้อย การเพิ่มราคาครั้งนี้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถซื้อกาแฟได้อีก

ลิโอเนล ฟาร์นแฮม (Lionel Farmham) จำหน่ายหนังสือพิมพ์ เดอะ บิ๊ก อิชชู (The Big Issue) หนังสือพิมพ์ท้องถนนของออสเตรเลียที่ให้โอกาสผู้ไร้บ้านและผู้ด้อยโอกาสในสังคมในการหางานทำ เขาจำหน่ายหนังสือพิมพ์นี้อยู่บนทางเท้าหน้าผับ ยัง แอนด์ แจ็คสัน (Young and Jackson) มาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว

คุณฟาร์นแฮมเป็นผู้ไร้บ้านจนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลซาลเวชัน อาร์มี (Salvation Army) เมื่อไม่กี่ปีก่อน กล่าวว่า สำหรับผู้ไร้บ้านนั้น การได้รับเครื่องดื่มร้อน ๆ จากผู้คนบนท้องถนนนั้น “เป็นเรื่องน่ายินดี”

“มันเป็นเรื่องดีที่มีเครื่องดื่มร้อน ๆ โดยเฉพาะในฤดูหนาว” คุณฟาร์นแฮมกล่าว

“นั่นเพราะผู้ไร้บ้านต้องอยู่ท่ามกลางอากาศเย็น และการได้กาแฟสักแก้วก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี”

“เครื่องดื่มร้อนราคาแก้วละ $1 ดอลลาร์ก็พอซื้อได้ แต่ถ้า $2 ดอลลาร์มันก็คงเป็นเรื่องยาก”

คุณฟาร์นแฮมกล่าวอีกว่า ผู้ไร้บ้านมักจะ “ไม่ได้รับเงินเลย” เขาอธิบายว่าผู้ไร้บ้านจำนวนมาก “อับอายเกินไป” ที่จะขอรับความช่วยเหลือจากเซ็นเตอร์ลิงก์ (Centrelink) ส่วนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลืออยู่แล้วนั้น เงินสวัสดิการที่ได้รับก็ “ไม่เพียงพอเลย”

“พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ” คุณฟาร์นแฮมกล่าว

เสียงเรียกร้องเพิ่มเงินสวัสดิการผู้ว่างงานให้สูงขึ้น

เจนนี สมิธ (Jenny Smith) ประธานองค์กรผู้ไร้บ้านออสเตรเลีย (Homelessness Australia) กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียจำนวนมากต้องเลือกระหว่างมีอาหารกินกับมีเงินจ่ายค่าเช่า ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากเงินสวัสดิการของรัฐบาลที่ไม่เพียงพอ

คุณสมิธกล่าวว่า ความกดดันจากค่าครองชีพ “กำลังสร้างแรงกดดัน” ต่อชาวออสเตรเลียที่มีเงินได้ในระดับต่ำสุด และกำลังเรียกร้องให้เซ็นเตอร์ลิงก์เพิ่มเงินสวัสดิการจากวันละ $45 ดอลลาร์เป็นวันละ $70 ดอลลาร์
เธอกล่าวว่า การดำรงชีวิตด้วยเงิน $45 ดอลลาร์นั้น “เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึง”

“ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับผู้มีรายได้น้อยในออสเตรเลีย” คุณสมิธกล่าว

“เรื่องการปรับราคาขึ้นที่คุณกำลังพูดถึง (การขึ้นราคากาแฟของเซเว่นอีเลฟเว่น) ถือเป็นเรื่องแย่อีกเรื่องในสถานการณ์ที่ยากลำบาก”

คุณสมิธกล่าวอีกว่า สภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลีย (ACOSS) ก็กำลังเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าเช่าที่พักอาศัย จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ $10 ดอลลาร์ให้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ $15 ดอลลาร์

“มันยังคงเป็นเงินได้ในระดับต่ำ ขณะที่มูลค่าของเงินเหล่านั้นก็มีเพียงแต่จะลดลงไป” คุณสมิธกล่าว

“แต่ในตอนนี้นับว่ามันเป็นเรื่องน่าอัปยศ”

คุณสมิธกล่าวว่า แม้อัตราเติบโตค่าจ้างเป็นเรื่องลำดับแรกในการอภิปรายของรัฐบาลปีนี้ แต่ก็ได้กล่าวอีกว่า “ยังไม่มีการพูดถึงการขึ้นค่าจ้างสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด”

โครงการผู้ไร้บ้านสู่ผู้มีบ้าน (From Homeless to a Home)

คุณแอนดรูว์ (Andrew) เป็นผู้ไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 และก่อนหน้านี้อาศัยรถตู้เป็นบ้าน เขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผู้ไร้บ้านสู่ผู้มีบ้าน (H2H) ซึ่งต่อมาเขาได้รับความช่วยเหลือให้มีที่พักอาศัยซึ่งต้องออกค่าใช้จ่ายเองครึ่งหนึ่ง และเงินสวัสดิการจากเซ็นเตอร์ลิงก์ของเขาก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

คุณแอนดรูว์ กล่าวว่า เงินสวัสดิการจากเซ็นเตอร์ลิงก์ “น้อยเกินไป” ที่ผู้คนจะประทังชีวิตได้ และเขาก็ซื้อสิ่งของจำเป็นพื้นฐานได้ก็ต่อเมื่อเงินสวัสดิการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

“มันยากที่จะประทังชีวิตด้วยเงินสวัสดิการในระดับปกติ เพราะคุณต้องจ่ายค่าที่พักให้โรงแรม” คุณแอนดรูว์ กล่าว

“แต่เมื่อพวกเขาเพิ่มเงินสวัสดิการขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงโควิด มันเหมือนฟ้าประทานจริง ๆ ผมมีเงินซื้ออาหารและจ่ายค่ามือถือให้ใช้ต่อได้”

คุณแอนดรูว์ไม่คิดว่าการเพิ่มเงินเซ็นเตอร์ลิงก์จะเป็นเรื่องของการ “มอบไลฟ์สไตล์ใหม่อันยอดเยี่ยม” แต่เขามองว่าเป็นเรื่องของการให้โอกาสผู้คน “ในการมีชีวิตรอด”

เขาเล่าอีกว่า เมื่อใครสักคนเป็นผู้ไร้บ้าน กาแฟนั้นถือเป็น “ความหรูหรา” อันที่จริงแล้ว แม้กระทั่งอาหารก็ถือว่าเป็นความสำคัญอันดับ 3 ที่อยู่ตามหลังเรื่องสำคัญกว่าอย่างการหาที่พักพิง และการหาห้องน้ำใช้

“สิ่งที่ผู้คนเห็นแย้งกัน (ในเรื่องการขึ้นเงินสวัสดิการ) ก็คือการที่คนจะสุขสบายมากเกินไป และจะไม่พยายามมีส่วนร่วมในสังคมหรือในระบบเศรษฐกิจ และไม่หางานทำ” คุณแอนดรูว์กล่าว

“แต่ผมคิดว่า ความเป็นจริงก็คือจำนวนเงิน (สวัสดิการ) ที่จ่ายนั้นไม่ครอบคลุมค่าครองชีพจริง ๆ ซึ่งรวมถึงค่าที่พักอาศัยหรือค่าอาหารด้วย รวมถึงไม่ครอบคลุมการติดต่อกับใครด้วยโทรศัพท์มือถือ เพราคุณมีนัดมากมายที่คุณต้องเข้าพบ รวมถึงนัดกับหมอและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และอะไรทำนองนั้น”

คุณแอนดรูว์บอกว่า เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นร้านโปรดของเขาเมื่อเขาเป็นผู้ไร้บ้าน

“เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นร้านโปรดของผมในช่วงที่เป็นผู้ไร้บ้านก็ว่าได้ นั่นก็เพราะกาแฟราคา $1 ดอลลาร์ มันถือเป็นความหรูหราที่ผมซื้อได้” คุณแอนดรูว์กล่าว
ในปี 2020 ก่อนที่การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้น มีผู้คนมากกว่า 300 คนต้องหลับนอนอยู่ข้างถนนในเมลเบิร์นทุกคืน

อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องหลับนอนอยู่ในรถ หรือนอนอยู่บนโซฟาที่บ้านของคนอื่น และอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวที่แออัดอย่างรุนแรง

จากการสำรวจสำมะโนประชากร (Census) โดยสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) เมื่อปี 2016 ได้บันทึกจำนวนผู้ไร้บ้านในเขตเมืองเมลเบิร์น 1,725 คน ขณะที่ทัวร์ออสเตรเลียนั้นมีผู้คนที่ได้รับการจัดให้เป็นผู้ไร้บ้านจำนวน 116,427 คน

โดยเฉลี่ยแล้ว ในจำนวนชาวออสเตรเลียทุก ๆ 1,000 คน จะมีจำนวนผู้ไร้บ้านอยู่ประมาณ 5 คน

เซเว่นอีเลฟเว่นระบุว่า การเปลี่ยนแปลงราคากาแฟร้อนดังกล่าวเป็นผลจาก “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วทุกส่วน ซึ่งทำให้ราคาในปัจจุบันไม่มีความยั่งยืน”

“เราเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นการเพิ่มราคาเพียงเล็กน้อย เราให้ความสำคัญกับคุณและการสนับสนุนของคุณอย่างต่อเนื่อง และเราหวังว่าจะได้พบกับคุณอีกครั้งในร้านค้าของเราเร็ว ๆ นี้” เซเว่นอีเลฟเว่นโพสต์ในเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ เซเว่นอีเลฟเว่น ได้รับการติดต่อเพื่อแสดงความคิดเห็นว่า จะมีกลยุทธ์ในการช่วยเหลือผู้ไร้บ้านรวมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมซึ่งต้องพึ่งพากาแฟราคา $1 ดอลลาร์หรือไม่


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 31 August 2022 6:27pm
By Tom Canetti
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand