รู้ทันและป้องกันตัวจากกลลวงยุคโควิด

มิจฉาชีพไม่ละเว้นฉวยโอกาสจากความกลัวของประชาชนช่วงโควิดระบาด กลลวงที่พบทั่วไปรวมถึงการล้วงข้อมูลส่วนตัว การหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ และการหลอกลวงเกี่ยวกับเงินซูเปอร์ นี่คือวิธีจับสังเกตและป้องกันตัวคุณให้รอดจากภัยนักต้มตุ๋น

keyboard hand

Source: Getty Images/Bill Hinton

ได้รับรายงานกรณีหลอกลวงต้มตุ๋นกว่า 6,415 รายงานที่กล่าวถึงไวรัสโคโรนา รวมความเสียหายมากกว่า 9,800,000 ดอลลาร์นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด 


ประเด็นสำคัญ

  • สแกมวอตช์รับรายงานกรณีหลอกลวงต้มตุ๋นเกี่ยวกับวัคซีน แอบอ้างหน่วยงานรัฐ เงินซูเปอร์ หลอกซื้อสินค้าออนไลน์ และสารพัดธุรกิจกลลวง
  • เหยื่อต้มตุ๋นอาจเสี่ยงสูญเสียทรัพย์สินหรือถูกขโมยอัตลักษณ์
  • มีหลายวิธีที่ช่วยปกป้องคอมพิวเตอร์ของคุณจากมัลแวร์ได้

นพ.สตีฟ แฮมเบิลตัน (Steve Hambleton) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางคลินิกของ กล่าวว่า พบกรณีหลอกลวงหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดในออสเตรเลีย

“มีคนขายวันเวลานัดหมายฉีดวัคซีนที่ไม่มีอยู่จริง แน่นอนว่าการนัดหมายคุณต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณ นั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ” นพ.แฮมเบิลตันอธิบาย

“หรือบางคนอาจขอให้คุณจ่ายเงินเพื่อส่งวัคซีนมาให้ ซึ่งคุณไม่ควรต้องจ่ายเงินให้ได้วัคซีน”

บางครั้งมิจฉาชีพขอให้เหยื่อลงทะเบียนเข้ารายชื่อรอรับวัคซีน หรือจ่ายเงินเข้ารับการตรวจเบื้องต้นก่อนฉีดวัคซีน ทั้งหมดนี้มุ่งลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ
COVID vaccine
Source: Getty Images/Stefan Cristian Cioata

ใบรับรองวัคซีนปลอม

หน่วยงานด้านสุขภาพดิจิทัลของออสเตรเลียเตือนผู้บริโภค ระวังมิจฉาชีพเสนอออกใบรับรองการฉีดวัคซีนปลอมโดยใช้เครื่องมือออนไลน์

นพ.แฮมเบิลตันกล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คนที่ต้องการใบรับรองการฉีดวัคซีนปลอมจะให้ข้อมูลส่วนตัวกับอาชญากรไซเบอร์ รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิต จนเสี่ยงถูกโจรกรรมอัตลักษณ์หรือสวมรอยตัวบุคคล (identity theft)

“มีคนเสนอขายใบรับรองปลอมในตลาดมืด” นพ.แฮมเบิลตันกล่าว

“แน่นอนว่าการออกใบรับรอง[ปลอม]คือปัญหาหนึ่ง เพราะหมายความว่าคุณกำลังพาตัวเองและครอบครัวไปเสี่ยง แต่การจะได้ใบรับรองนั้น พวกเขาต้องขอข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับคุณ และนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง”
พวกเขาต้องการข้อมูลระบุตัวตนบุคคล ต้องการข้อมูลสุขภาพ แน่นอนว่านี่เปิดช่องให้เขาขโมยอัตลักษณ์ของคุณได้
ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลเป็นสินค้ามีค่าอย่างหนึ่งในเว็บบอร์ดตลาดมืด เมื่อสูญเสียการควบคุมข้อมูลนี้ไปแล้วก็ยากจะกลับมาควบคุมได้อีก นพ.แฮมเบิลตันกล่าว

กลลวงแอบอ้างหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ ทำทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านข้อความทางโทรศัพท์และอีเมลเพื่อหลอกขโมยข้อมูลผู้อื่น

นพ.แฮมเบิลตันอธิบายว่า ข้อความเหล่านี้มาพร้อมกับลิงก์และไฟล์แนบที่เป็นอันตราย สร้างขึ้นเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ

ตัวอย่างเช่น ข้อความดูเหมือนมาจากระบบ myGov พร้อมแนบลิงก์น่าสงสัยที่อ้างว่าเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19
อย่าคลิกลิงก์เป็นอันขาด นั่นไม่ใช่วิธีที่ myGov ติดต่อคุณ โปรดไปที่เว็บไซต์หน่วยงานโดยตรง

การลวงขโมยข้อมูล หรือ Phishing

มิจฉาชีพอาจโทรศัพท์หาคุณ หรือติดต่อคุณผ่านโซเชียลมีเดีย อีเมล หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ

นพ.แฮมเบิลตันแนะนำว่า ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจคลิกลิงก์ในอีเมลหรือข้อความที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับ

“ทุกวันนี้เราต่างได้รับอีเมลที่บอกว่าพัสดุส่งไม่ได้ [แล้วมีข้อความบอกว่า] ‘กรุณาคลิกลิงก์นี้’
ถ้าคุณไม่ได้คาดว่าจะมีพัสดุมาส่ง อย่าคลิกลิงก์เด็ดขาด
“หลายครั้งมาพร้อมโลโก้องค์กรใหญ่ ๆ เช่น Amazon หรือผู้ให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์อื่น ๆ ที่ดูเหมือนของจริง แล้วมาขอข้อมูลจากคุณ”

นพ.แฮมเบิลตันแนะนำให้กลับไปตรวจสอบรายการสั่งสินค้าบนเว็บไซต์ที่ซื้อ แทนที่จะคลิกลิงก์แนบมากับข้อความ

นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังสร้างหน้าร้านปลอมออนไลน์ แอบอ้างขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ยาหรือวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 หรือผลิตภัณฑ์อย่างหน้ากากอนามัย

ลิงก์ติดตั้งมัลแวร์

ดร.สุรันกา เซเนวิรัตนี (Suranga Seneviratne) อาจารย์สาขาความมั่นคงปลอดภัยจากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ อธิบายว่า หากคลิกลิงก์น่าสงสัยในข้อความจากมิจฉาชีพ อาจส่งผลติดตั้งโปรแกรมไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตราย หรือ มัลแวร์ (malware) ที่ขโมยข้อมูลของผู้ใช้อุปกรณ์

“[มิจฉาชีพ]อาจสร้างลิงก์ขึ้นมา แล้วลิงก์นี้มีมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย ดังนั้น เมื่อคุณคลิกลิงก์นั้น มัลแวร์ก็จะเข้ามาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ” ดร.เซเนวิรัตนีกล่าว
ซอฟต์แวร์นี้บันทึกทุกอย่างที่คุณพิมพ์ แล้วมีช่องทางสื่อสารส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้ ‘คนร้าย’
hooded person
Source: Getty Images/boonchai wedmakawand

การโจรกรรมอัตลักษณ์กับ “ดาร์กเว็บ”

ศาสตราจารย์แชนตัน จาง (Shanton Chang) อาจารย์คณะระบบข้อมูลสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า มิจฉาชีพมักพยายามล้วงข้อมูลส่วนตัวของบุคคล
ถ้าพวกเขาได้ชื่อของคุณ ที่อยู่ วันเกิด อาจรวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ด้วย พวกเขาสามารถไปที่ธนาคารที่คุณใช้บริการแล้วแอบอ้างเป็นคุณได้
 “ข้อมูลเหล่านี้เป็นวิธีที่องค์กรทางการมักใช้ระบุตัวว่าคุณเป็นใคร” ศาสตราจารย์จางกล่าว

ศาสตราจารย์จางเสริมว่า ข้อมูลส่วนตัวอาจถูกขายในตลาดมืดจนเกิดการสวมรอยตัวบุคคลได้

“ข้อมูลส่วนตัวของคุณมีค่ามาก และใช้ทำเงินได้”
หากข้อมูลส่วนตัวหลุดไปอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นอาจถูกนำไปใช้ต่ออีกนาน
ข้อมูลส่วนตัวมีค่ามาก คุณเอาไปสมัครบัตรเครดิตใบใหม่ได้ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ทำได้ทุกอย่างทั่วโลก

ทำงานจากบ้านยิ่งเสี่ยงมิจฉาชีพ

ดร.ปริยาดาร์ซี นันดา (Priyadarsi Nanda) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และไอที มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ กล่าวว่า การทำงานจากบ้านเพิ่มความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อกลลวงต้มตุ๋นเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานประจำสำนักงาน

“เราทำงานจากบ้าน จึงไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่จำเป็นใด ๆ เกี่ยวกับวิธีที่เราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะที่ในองค์กรมีมาตรการความปลอดภัยมากมายช่วยคุ้มครองคุณ”
working from home
Source: Pexels/Anna Shvets

ปกป้องคอมพิวเตอร์จากมัลแวร์

ดร.นันดาอธิบายว่า คุณอาจปกป้องคอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัยจากมัลแวร์ได้หลายวิธี

“ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสป้องกันมัลแวร์ สแกนไฟล์ทั้งหมดของคุณเป็นระยะ” ดร.นันดากล่าว

หากเชื่อว่าอาจเผลอคลิกลิงก์น่าสงสัยไปแล้ว อาจเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปพบผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจสอบว่ามีมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์อันตรายไม่พึงประสงค์ใด ๆ หรือไม่

“อีกประการคือ ผู้ค้าซอฟต์แวร์ เช่น ไมโครซอฟต์หรือแอปเปิล ส่งแพตช์ (patch) ปรับปรุงระบบเป็นระยะอยู่แล้ว โดยขอให้คุณติดตั้งแพตช์แล้วรีสตาร์ตเครื่องคอมพิวเตอร์”

ดร.นันดาย้ำว่า การติดตั้งอัปเดตเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก

รายงานกรณีหลอกลวง

นพ.แฮมเบิลตันกล่าวว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อต้มตุ๋นหลอกลวงควรรายงานเหตุไปยังทางการ

“มีรายงานกรณีหลอกลวงหลายพันกรณี มีผู้คนที่สูญเงินจริง บางคนรู้สึกอับอายเลยไม่รายงานเหตุที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าถ้าคุณถูกหลอก คุณควรต้องเล่าให้ใครสักคนฟัง”

รายงานกรณีหลอกลวงต้มตุ๋นต่อคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและการค้าของออสเตรเลีย (ACCC) ได้ผ่านเว็บไซต์ Scamwatch


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 16 March 2022 5:42pm
By Chiara Pazzano
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand